Breaking News

รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV จาก 3 แบรนด์ขวัญใจมหาชนคนไทย

รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV จาก 3 แบรนด์ขวัญใจมหาชนคนไทย คงต้องยกให้กับ Honda, Toyota และ Mazda ที่ต่างก็มีฐานลูกค้า และสาวกทั่วฟ้าเมือง

รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV-จาก 3 แบรนด์-1.jpg
Three King Battle
รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV-จาก 3 แบรนด์-2.jpg
Three King Battle

รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV จาก 3 แบรนด์ขวัญใจมหาชนคนไทย

“เราคงต้องตัดสินใจให้ไม่ได้ ว่ารางวัล Sub-Compact SUV ยอดเยี่ยมจะเป็นของใคร แต่สิ่งที่ทำได้ คือ “เล่าให้ฟัง” ว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อต้องขับทั้ง 3 รุ่นบนเส้นทางเดียวกัน … ฉะนั้นคนที่จะตัดสินว่ารุ่นไหน “เจ๋ง” สุด ๆ คือ “คุณผู้อ่าน” ตั้งแต่ต้นจนจบเท่านั้น”

ด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้คน ณ ปัจจุบัน กลุ่มตลาดรถอเนกประสงค์ ดูจะเป็นตัวเลือกที่มีอิทธิพลไม่น้อย สำหรับการเลือกซื้อรถสักคัน โดยเฉพาะกลุ่ม Sub-Compact SUV ที่ “ตอบโจทย์” ความต้องการใช้งานได้ในแบบ “ครอบคลุม” ซึ่งเท่าที่เห็นบนท้องถนน แบรนด์ขวัญใจมหาชนคนไทยคงต้องยกให้กับ Honda, Toyota และ Mazda ที่ต่างก็มีฐานลูกค้า และสาวกทั่วฟ้าเมือง ฉะนั้น Torque Magazine จึง “จัดให้” เต็ม ๆ กับการนำ 3 ยนตรกรรม Sub-Compact SUV จากทั้ง 3 ค่ายรวมกันแบบพร้อมหน้า พร้อมตา

ทั้ง Honda HR-V, Toyota C-HR และ Mazda CX-3 มุ่งหน้าสู่สถานที่เหมาะ ๆ แถวจังหวัดนครนายก ซึ่งรถราเป็นใจ และพื้นถนนราบเรียบได้ใจนักขับ เพื่อสัมผัสอรรถรสการขับขี่ ก่อนที่จะถ่ายทอดรีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV จาก 3 แบรนด์ขวัญใจมหาชนคนไทยทั้งหมดออกมาเป็นตัวอักษร

Honda HR-V R

โดยเราขอ “เริ่ม” ต้นมหกรรมการทดลองขับด้วยรุ่นใหญ่สุดของโมเดล HR-V จากค่าย Honda ในรุ่น RS เหตุเพราะความ “โดนใจ” ในความคุ้มค่าของ “ชายกลาง” รุ่น EL จากครั้งก่อน ซึ่งเทียบกับรุ่นท็อปในรหัส RS ดูจะพบส่วนต่างด้าน “ราคา” อยู่ที่ราว ๆ 60,000 บาท ซึ่งอันดับแรกเลย คือ การแลกกับการเป็น “เป้าสายตา” จากเพื่อนร่วมท้องถนนได้ดีทีเดียว เพราะนี่คือการบ่งบอกถึง “สไตล์” ที่ไม่เหมือนใคร จากการถ่ายทอดผ่านรูปลักษณ์ภายนอก

ตั้งแต่ความโดดเด่นสะใจด้วยโทนสีตัวถัง สีแดง Passion Red ที่ตัดกับโทนสีดำแบบสปอร์ตในส่วนชุดกระจังหน้า, คิ้วฝากระโปรงท้ายสีโครเมี่ยมรมดำ, ชุดกันชนหน้า, ชุดกันชนหลัง, ชายกันกระแทกด้านข้าง และกระจกมองข้างที่เลือกใช้โทนสีดำที่มาพร้อมกับชุดไฟเลี้ยวในตัว ตลอดจนล้ออัลลอยลายใหม่ขนาด 17 นิ้ว พร้อมด้วยด้านท้ายที่บ่งบอกความเป็นเวอร์ชั่นท็อปสุด ด้วยตราสัญลักษณ์ RS บนฝากระโปรงหลัง ในขณะที่เรื่องของออฟชันนั้นรุ่นท็อป RS นั้นจัดมาให้เต็มพิกัด ด้วยชุดไฟหน้าแบบ Full LED และไฟ Daytime Running Light แบบ LED โดยรวมถึงหลังคา Panoramic Sunroof ปรับไฟฟ้าที่จะมีให้เฉพาะเวอร์ชั่น RS เท่านั้น

ส่วนภายในห้องโดยสารนั้นยังคงคุมโทนด้วยสีดำ และการตกแต่งด้วยโครเมี่ยม และ Piano Black ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุหนังสังเคราะห์ ซึ่งถ้าจะให้ว่ากันตรง ๆ ก็คงบอกได้ว่ามี “ความต่าง” กันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับรุ่น EL ในฐานะ “ชายกลาง” โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ความสปอร์ต และออฟชันบางส่วนที่ติดตั้งมาให้สำหรับเวอร์ชั่น RS อย่างเช่นแป้นเหยีบเบรค และคันเร่ง ที่สัมผัสแล้วได้อารมณ์มากกว่า ตามด้วยไฟส่องสว่างสำหรับอ่านหนังสือในห้องโดยสารด้านหลังที่จะจัดแบบ LED มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

ส่วนออฟชันมาตรฐานต่าง ๆ ที่ให้มาไม่ต่างจากรุ่นรองสักเท่าไหร่ ว่ากันไปตามลำดับด้วย

  • ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์แบบอัจฉริยะ (One Push Ignition System)
  • ระบบควบคุมประตูอัจฉริยะ (Honda Smart Key System)
  • ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ พร้อมแผงควบคุมระบบสัมผัส
  • พวงมาลัยปรับระดับได้ 4 ทิศทาง
  • กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ
  • กระจกไฟฟ้าปรับขึ้น-ลงอัตโนมัติคู่หน้า
  • ระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย (Paddle Shift)
  • ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control System)
  • มาตรวัดเรืองแสงที่ปรับเปลี่ยนได้ 7 สี พร้อมหน้าจอแสดงผลข้อมูล Multi Information Display แบบ LCD
  • ไฟแสดงผลการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน (Eco Coaching)
  • ปุ่ม ECON
  • เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมเบาะนั่งด้านหลังที่ปรับพับได้แบบ 60:40 ทั้งยังปรับเอนได้ 1 จังหวะ
  • พนักเท้าแขน และหมอนรองศรีษะ 3 ตำแหน่ง
  • แผงบังแดดคู่หน้า พร้อมกระจกแบบมีฝาปิด และไฟส่องสว่าง
  • ช่องจ่ายไฟสำรอง
  • ไฟส่องสว่างห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง

รวมไปถึงส่วนของระบบอำนวยความบันเทิง ที่มากับระบบเครื่องเสียง พร้อมหน้าจอระบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว พร้อมสวิทช์ควบคุมเครื่องเสียง, ปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์, ปุ่มควบคุม และแสดงข้อมูลการขับขี่บนพวงมาลัย ที่รองรับการเชื่อมต่อ Smart Phone, Bluetooth, USB และ HDMI ส่งผ่านเสียงด้วยลำโพงถึง 6 ตัว

แต่สิ่งที่ต้องยอมรับว่ามีความ “คุ้มค่า” ในส่วนต่าง ก็คือ ระบบความปลอดภัย ที่แม้นับตามรายละเอียดของแคตตาล็อคแล้ว เวอร์ชั่นท็อปสุดอย่าง RS จะมีมากกว่ารุ่น EL แค่เพียงอย่างเดียว คือ ระบบเตือน และช่วยเบรกที่ความเร็วต่ำ (City Brake Active System) ก็ตาม แต่เมื่อนึกถึงสภาพการจราจาที่ต้องพบเจออยู่ทุกวัน คุณจะพบว่าอันตรายในความเร็วต่ำ นั้นน่ากลัวแทบไม่ต่างกับอันตรายในความเร็วสูง จนทำให้เรามองว่า “ออฟชัน” นี้มีความสำคัญ และ “คุ้มค่า” ไม่แพ้สิ่งอื่นใด

ส่วนออฟชันอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เค้าจัดมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานนั้นก็จะประกอบด้วย

  • ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda LaneWatch)
  • ระบบเบรกมือไฟฟ้า (Electric Parking Brake)
  • ระบบ Auto Brake Hold
  • ถุงลมนิรภัยด้านคนขับอัจฉริยะ i-SRS
  • ถุงลมฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า SRS
  • ถุงลมด้านข้างคู่หน้าอัจฉริยะ i-Side Airbags
  • ม่านถุงลมด้านข้าง Side Curtain Airbags
  • ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค ABS
  • ระบบกระจายแรงเบรก EBD
  • ระบบช่วยความคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง VSA
  • ระบบช่วยควบคุมการบังคับการบังคับพวงมาลัย MA-EPS
  • ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัด HAS
  • สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติเมื่อเบรกกะทันหัน ESS
  • ระบบล็อคประตูอัตโนมัติ Auto Door Lock by Speed
  • ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ Walk Away Auto Lock
  • กล้องมองหลังปรับมุมองได้ 3 ระดับ
  • เข็มขัดนิรภัยด้านหน้า 3 จุด 2 ตำแหน่งปรับระดับสูง-ต่ำ พร้อมระบบเตือนคาดเข็มขัดคู่หน้า ส่วนด้านหลังแบบ 3 จุด 3 ตำแหน่ง
  • จุดยึดเบาะนั่งสำหรับเด็ก ISOFIX
  • ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer พร้อมสัญญาณกันขโมย
รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV-จาก 3 แบรนด์-Honda HR-V RS-11.jpg
เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.8 ลิตร แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว SOHC พร้อมระบบ i-VTEC

ต่อเนื่องกันที่เรื่องของขุมพลัง ซึ่งถ้าคุณเป็นแฟน Honda จะรู้เลยว่า Honda HR-V ยังคงใช้ขุมพลังบล็อคเดียวกัน กับพื้นฐานเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.8 ลิตร แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว SOHC พร้อมระบบ i-VTEC ที่สามารถตอบสนองได้ทั้งความแรง และความประหยัด โดยมีพละกำลังสูงสุดตามที่ระบุในสเปค คือ 141 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 172 นิวตันเมตรที่ 4,300 รอบต่อนาที รับหน้าที่ส่งกำลังสู่ล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม พร้อมด้วยระบบพวงมาลัย แร็คแอน์พิเนี่ยน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า EPS และความสามารถในการรองรับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงระดับ E85 หรือพูดง่าย ๆ ว่ารายละเอียดด้านเทคนิคนั้น “ไม่ต่าง” ไปจากรุ่นรองซักเท่าไหร่ ซึ่งรวมไปถึง “อรรถรส” ในการขับด้วยเช่นกัน

เพราะ Honda HR-V RS ยังคงสร้างความสนุกให้สัมผัสทุกครั้งที่ได้สัมผัส และรับรู้ถึงเอกลักษณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น Signature ของยนตรกรรมจากค่าย Honda ที่ต่อให้ผ่านมือไปหลายรุ่นก็ยังคงรับรู้ได้ จนดูเหมือนเป็นความตั้งใจของวิศวกรที่พยายามจะผสมผสานจิตวิญญาณ Honda ผสมรวมเข้ามาในยนตรกรรมทุกรุ่น โดยลดหลั่นกันไปตามสไตล์ หรือ ประเภทของรถ

ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ ต่อให้เราได้ขับยนตรกรรมของค่าย Honda รุ่นไหนก็ตาม เราจะรู้สึกได้ถึงเอกลักษณ์ และอรรถรสที่คุ้นเคย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งจาก Position ท่านั่ง, การควบคุม ไปจนถึงสัมผัสของการตอบสนองในการ “กดคันเร่ง” ตั้งแต่ Eco Car ไปจนถึงรถอเนกประสงค์ SUV ก็ตาม

และด้วยสิ่งนั้น จึงทำให้ใช้เวลาเพียงไม่นานในการปรับตัวให้เข้ากับรถ ซึ่งต่อให้เป็นการทดลองขับครั้งแรก แต่ในอีกเพียงอึดใจ คุณก็จะรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้ราวกับคุ้นเคยกันมานาน จนแทบจะบอกกล่าวได้ว่า “เคล็ดลับ” ของ Honda คือ สามารถทำให้ “เข้าถึง” การขับขี่ได้ง่าย เพื่อให้ผู้ขับใช้ศักยภาพของรถได้อย่างสูงสุด ฉะนั้นต่อให้คุณเพิ่งโดดลงจาก Eco Car อย่าง Honda Brio และมาโดดขึ้น Honda HR-V RS ในทันที เราก็เชื่อได้ว่าในเวลาเพียงอึดใจ คุณก็สามารถใช้งานได้อย่าง “ถนัดมือ”

และเพลิดเพลินไปกับอรรถรสการขับขี่ ที่ยังคงมอบความสนุกสนานได้ในทุกเส้นทาง ด้วยความสปอร์ตที่สอดผสานกันอย่างลงตัวในทุกย่านความเร็วแบบที่ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เพื่อเข้าผู้บริโภคทั้งชาย และหญิง “เข้าถึง” ทั้งในเรื่องของการควบคุมที่มีระบบพวงมาลัย แร็คแอน์พิเนี่ยน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า EPS ทำหน้าที่สั่งการได้อย่างว่องไวไม่ว่าจะในความเร็วต่ำที่เบามือ หรือความเร็วสูงที่แปรผันน้ำหนัก เพื่อหน่วงให้สามารถควบคุมได้อย่างมั่นใจ

รวมถึงสร้างประทับใจในความเฉียบคมบนความเร็วสูง กับจังหวะ “โยกหลบ” เพื่อนร่วมท้องถนนบนช่วงความเร็วตั้งแต่ 100 กม./ชม. เป็นต้นไป เพราะนอกจากฟิลลิ่งคม ๆ ของพวงมาลัยแล้ว ระบบช่วงล่างยังเป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่คุณจะได้รับรู้ถึงความนุ่มนวล ที่เสริมด้วยอารมณ์ความสปอร์ตเบา ๆ ในทุก ๆ ย่านความเร็ว

ทั้งยังรวมไปถึงความมั่นใจในส่วนของระบบเบรกที่ยังคงรักษาความรู้สึกอันคุ้นเคยของแบรนด์ Honda ไว้ด้วยน้ำหนักที่ทำให้ใช้เวลาไม่นาน สำหรับการปรับน้ำหนักเท้าให้เข้ากัน จนสามารถเบรกได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งสรุปง่ายๆ ว่าท้ายที่สุดคุณเองจะแยกไม่ออกว่า Honda HR-V RS นั้นปรับตัวให้เข้ากับคุณ หรือตัวคุณเองนั่นแหละที่ปรับตัวให้เข้ากับ Honda HR-V RS ไปอย่างแนบเนียน แต่ที่แน่ๆ ถ้าผมจะหารถเพิ่มอีกซักคัน โดยที่ใครในบ้านก็ได้ สามารถคว้ากุญแจแล้วขับออกไปได้อย่างมั่นใจล่ะก็ Honda HR-V นี่แหละไม่ว่าจะรุ่นไหน ก็ยังเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกที่ผมสนใจเสมอ

Mazda CX-3

ตัวเลือกลำดับที่ 2 เหตุเพราะนานมาแล้วพี่ชายในอนุกรมอย่าง CX-5 เคยสร้างความประทับใจให้ผมมาแล้วในการเดินทางไกล ฉะนั้นน่าจะเป็นเรื่องดีที่ DNA ของ CX-5 จะถูกถ่ายทอดลงไปใน CX-3 ซึ่งจะมีหรือไม่ ทางเดียวที่จะรู้ได้ คือ “ต้องลอง” เท่านั้น

โดย Mazda CX-3 คันที่อยู่กับเรานี้ คือ เวอร์ชั่นล่าสุด 2018 Collection ที่มาพร้อมกับการอัพเกรดความล้ำสมัย ภายใต้พื้นฐานการออกแบบตามแนวคิด KODO Design เพื่อแสดงความชัดเจน และสื่อให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาตามแนวทาง Soul of Motion จิตวิญญาณแห่งความเคลื่อนไหว

และนั่นก็มากพอที่จะทำให้ Mazda CX-3 เป็นอีกหนึ่งยนตรกรรมอเนกประสงค์ที่มีแรงดึงดูดมากพอที่จะสร้างความน่าสนใจ แม้จะจอดนิ่งสงบไร้การเคลื่อนไหว ทั้งจากด้วยสไตล์ และรายละเอียดการตกแต่งที่ใส่ใจในคุณภาพของวัสดุ แม้จะเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ชุดกระจังหน้าที่ออกแบบอย่างมั่นคงด้วยสไตล์ Signature Wing ที่สร้างความโดดเด่นด้วยการตกแต่งจากเส้นสายโครเมี่ยม ตัดกับกรอบไฟตัดหมอก และวัสดุตกแต่งเสาประตูแบบสีดำเงา สอดรับกับงานดีไซน์อันเปี่ยมด้วยความทรงพลังของล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ในขณะที่ด้านหลังนำเสนอความเฉียบคมด้วยโคมไฟท้ายวงแหวน

ส่วนรายละเอียดออฟชันภายนอกที่ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานประกอบด้วย ชุดไฟหน้าโปรเจคเตอร์แบบ LED พร้อมระบบปรับระดับสูง-ต่ำ และเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ตลอดจนไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่เวลากลางวันแบบ LED Signature (Daytime Running Lamp) รวมถึงไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED และชุดไฟท้ายแบบ LED Signature อันลงตัวกับสปอยเลอร์หลัง, เสาอากาศแบบครีบฉลาม และชุดท่อไอเสียคู่แบบสปอร์ต พร้อมปลายท่อโครเมียม

ทางด้านภายในห้องโดยสารมีจุดเด่นในส่วนของการผสมผสานเรื่องสี ซึ่งเน้นความสอดคล้องกับสุนทรียศาสตร์แบบญี่ปุ่น เช่น การลดทอนส่วนอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป ตามด้วยการเลือกใช้วัสดุหนังที่มีคุณภาพสูง เสริมความโดดเด่นด้วยกรอบวงแหวนล้อมรอบช่องแอร์สีแดงเข้ม นอกจากนี้ยังมีการออกแบบคอนโซลกลางใหม่ เพื่อรองรับตำแหน่งของเบรกมือที่เปลี่ยนจากรูปแบบปกติ เป็นเบรกมือไฟฟ้า EPB ทั้งยังติดตั้งระบบ Auto Hold มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อการใช้งานที่สะดวกสบายมากขึ้น
ด้วยออฟชันมาตรฐาน เช่น

  • ระบบสตาร์ทเครื่องยนต์อัจฉริยะ (Push Start Button)
  • หน้าจอ Active Driving Display แสดงข้อมูลการขับขี่แบบสี
  • พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ Sport Paddle Shift หลังพวงมาลัย
  • หน้าจอสี Center Display แบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว พร้อมปุ่มควบคุมอัจฉริยะ Center Commander ซึ่งรองรับระบบนำทาง Navigator

สำหรับ Mazda CX-3 ความเจ๋งของเค้า คือ พลศาสตร์การขับขี่ที่โดดเด่น จนทำให้เป็นรถอเนกประสงค์ที่ขับสนุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเติมเทคโนโลยีใหม่ SKYACTIV-VEHICLE DYNAMICS เข้าไป เพื่อยกระดับการขับขี่ที่เป็นเอกลักษณ์ในชื่อ “Jinba-ittai” ซึ่งจะยอดเยี่ยมแค่ไหน อดใจรอแปบ เพราะเราอยากนำเสนอจุดเด่นก่อนเพราะนอกจากดีไซน์สดใหม่ สุดเร้าใจทั้งภายนอก และภายในแล้ว

Mazda CX-3 เรียกได้ว่าเป็นยนตรกรรมที่เน้นความสปอร์ตตัวจริง ด้วยองค์ประกอบอย่าง ระบบช่วงล่าง และระบบพวงมาลัยแบบ SKYACTIV – Chassis พร้อมด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะ G-Vectoring Control (GVC) เพื่อช่วยให้เข้าถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างคนขับกับรถได้ง่ายขึ้น ตามด้วยระบบส่งกำลัง SKYACTIV – Drive เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมโหมด Manual

รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV-จาก 3 แบรนด์-Mazda CX-3-15.jpg
เครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv-G 2.0 ลิตร 1,997 ซีซี. Dual S-VT Direct Injection

ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงสร้างตัวถังอันแข็งแกร่ง SKYACTIV-Body ซึ่งผลิตจากเหล็กกล้าคุณภาพสูง และขับเคลื่อนด้วย เครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv-G 2.0 ลิตร 1,997 ซีซี. Dual S-VT Direct Injection กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 83.5 x 91.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 14.0 : 1 กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 204 นิวตันเมตร ที่ 2,800 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 ที่จะทำให้คุณประทับใจในทันทีตั้งแต่เริ่มออกตัว

จากคุณสมบัติของเครื่องยนต์กำลังอัดสูง คือ สิ่งที่จะช่วยปลุกความคึกคัก และเปลี่ยนสภาพการจราจรในเมืองไทย ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นเพื่อโชว์ศักยภาพของ Mazda CX-3 ในเรื่องของความปราดเปรียวกับจังหวะแทรกตัวผ่านเพื่อร่วมท้องถนนไปอย่างพริ้วไหว โดยความเร้าใจนั้นอยู่ที่จังหวะความเนียนในการใช้รอบเครื่องยนต์ เพื่อกรอไว้ในย่านรอบเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงสุด และรอจังหวะกระแทกคันเร่งสั่งการปลดปล่อยแรงบิด และโฉบแซงผ่านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นคือสไตล์ที่เราชอบ และทำบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเจอพาหนะที่ถูกใจ

และอย่างที่ว่าไว้ ไม่ใช่แค่ความเร้าใจในทางตรงเท่านั้นที่จะทำให้คุณหลงรัก Mazda CX-3 หากแต่ยังรวมถึงมนต์สเน่ห์ของการเดินทางในโค้งเช่นนี้ เพราะ Mazda CX-3 สามารถมอบความสนุกให้คุณได้เต็มที่ไม่ว่าจะโค้งกี่องศาก็ตาม ด้วยการตอบสนองที่เฉียบคมของระบบพวงมาลัย แร็คแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า (EPAS) ที่สั่งซ้ายเป็นซ้าย ขวาเป็นขวา และควบคุมองศา ตลอดจนทิศทางได้ดั่งใจ ด้วยน้ำหนักแปรผันที่เหมาะสมกับความเร็ว และสอดรับกันเป็นอย่างดีกับระบบช่วงล่าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเส้นทางที่เราเลือกใช้ในวันนี้ ที่มีทั้งโค้งหลากสไตล์บนพื้นถนนที่ราบเรียบ จนสัมผัสอารมณ์ความสปอร์ตได้เต็ม ๆ ในเรื่องของการทรงตัว และการยึดเกาะถนน จนทำให้โดยรวมแล้วมันสร้างความมั่นใจให้กับคุณได้อย่างไม่ต้องกังวล และที่สำคัญองค์ประกอบในการดีไซน์ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ขับขี่เป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถได้ง่ายขึ้นนั้นยังทำให้ คุณสามารถใช้ศักยภาพของ Mazda CX-3 ได้ ราวกับกำลังขับขี่รถสปอร์ตในค่ายอย่าง MX-5 ที่ความต่างนั้นมีเพียงแค่ทัศนวิสัยมุมมองที่ “สูง” กว่า แต่นั่นคือ สิ่งที่ “ผู้ขับขี่” ซึ่งก็คือ เราที่ชื่นชอบอารมณ์ความสปอร์ตที่ต่อให้ ตึงตังๆ แค่ไหนก็ยังรับได้ไม่มีปัญหา และมันอาจจะไม่ตรงตามโจทย์ หรือความต้องการของ “พ่อบ้าน แม่บ้าน” ที่อยากได้รถ ซึ่งมีความนุ่มนวลเป็นส่วนประกอบหลัก

ฉะนั้นจึงต้องบอกว่า Mazda CX-3 คือ ยนตรกรรมอเนกประสงค์แบบ Sub Compact SUV อันมีสไตล์ และอรรถรสแบบ “สปอร์ต” เป็นเอกลักษณ์ ในแบบที่ว่าต้องลองมาขับดูเอง ถึงจะตอบได้ว่า “ใช่” หรือ “ไม่” แต่สำหรับผมเองที่ชื่นชอบความมันส์ในการขับขี่เป็นหลัก บอกเลยนี่แหละ “ตัวเลือก” อันดับต้น ๆ

โดยนอกจากอารมณ์การขับขี่สุดมันส์แล้ว Mazda CX-3 ยังมาพร้อมกับตัวช่วยมากมายในเรื่องของระบบความปลออดภัย ที่ตอบโจทย์เรื่องความ “คุ้มค่า” กับเทคโนโลยี i-ACTIVSENSE ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Advanced Blind Spot Monitoring – ABSM)
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert – RCTA)
  • ระบบแสดงภาพ 360 องศา รอบทิศทาง (360° View Monitor) ที่แสดงผลมุมมองแบบมุมสูง หรือ Bird’s Eye View

และเมื่อนำทุกอย่างผสมรวมกัน คำตอบที่เหมาะสมของ Mazda CX-3 ก็คือ ยนตรกรรมอเนกประสงค์หนึ่งเดียวในตลาด สำหรับสายสปอร์ตตัวจริง เมื่อเทียบกับรถพิกัดเดียวกัน โดยถ้าตัวคุณ และคนในครอบครัว ชื่นชอบ และหลงใหลในอารมณ์แบบนี้ บอกเลยว่า Mazda CX-3 นี่แหละคือยนตรกรรมที่คุณควรพุ่งไปหาเป็นอันดับแรก

Toyota C-HR 1.8 Mid

ลำดับสุดท้ายเราขอเป็น Toyota C-HR รถอเนกประสงค์ Sub Compact ที่มีกระแส “ร้อนแรง” ที่สุดจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งต้องการนำเสนอ “จุดเด่น” ตามกรอบแนวคิด “LIVE ALIVE…ออกไปใช้ชีวิต” เพื่อสื่อให้เห็นถึงการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของรถยนต์นั่ง เพราะฉะนั้น Toyota C-HR จึงเป็นรถที่มีดีไซน์ “ล้ำ” ที่สุดในบ้าน ด้วยแรงบันดาลใจที่มาจากรูปทรงของเพชร และพื้นผิวของอัญมณีที่มีความประณีตในการเจียระไน

แต่ … นั่นยังไม่ใช่ไฮไลท์ที่สำคัญของ Toyota C-HR เพราะสิ่งที่อยากนำเสนอ คือ 4 จุดเด่นหลัก ๆ ของเทคโนโลยีใหม่ โดยเราขอเริ่มต้นด้วย ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นใหม่ ที่ได้รับการพัฒนาให้แบตเตอรี่มีขนาดเล็กลง แต่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีอัตราการประหยัดน้ำมันสูงจากการย้ายตำแหน่งของแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้อยู่ในเวอร์ชั่นเครื่องยนต์ไฮบริด ซึ่งไม่เกี่ยวกับพระเอกของเราที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในพิกัด 1.8 ลิตร

ฉะนั้นข้ามมาที่เทคโนโลยีถัดไปซึ่งมีให้ทั้งในเวอร์ชั่นไฮบริด และเวอร์ชั่นเครื่องยนต์เบนซิน ทั้งยังเป็นเซอร์ไพรส์สำคัญที่เราพบเจอด้วยเช่นกัน กับสิ่งที่เรียกว่าเป็น โครงสร้างตัวถังใหม่ในชื่อว่า TNGA (Toyota Global New Architecture) อันมีที่มาจากแนวคิดในการท้าทายวิวัฒนาการยนตรกรรมให้ดียิ่งกว่า (Ever-better Cars)

โดยมีจุดเด่นก็คือ

  • โครงสร้างตัวถังใหม่ที่แข็งแกร่ง (Body Rigidity)
  • การมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ (Low Center of Gravity) เพื่อช่วยลดการโคลงของตัวถัง
  • ความโดดเด่นเรื่องประสิทธิภาพการเกาะถนน (Stability)
  • ความคล่องตัวในทุกจังหวะการขับขี่ (Agility)
  • การลดจุดอับสายตา (Visibility)
  • การพัฒนาระบบช่วงล่างด้านหลังใหม่ให้เป็นแบบอิสระปีกนกคู่ (Double Wishbone Suspension) ที่ไม่ใช่แค่เกาะถนน แต่ยังเพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่อีกด้วย

เทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลกในชื่อ Toyota Safety Sense ที่ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งประกอบด้วย

  • ระบบความปลอดภัยก่อนการชน (Pre-Collision System)
  • ระบบควบคุม และปรับความเร็วอัตโนมัติ (Dynamic Radar Cruise Control)
  • ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Automatic High Beams)
  • ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมพวงมาลัยหน่วงอัตโนมัติ (Lane Departure Alert with Steering Assist)

สุดท้าย คือ ความล้ำหน้ากับระบบ Toyota T-Connect Telematics ระบบที่สามารถเชื่อมต่อผู้ขับขี่ และรถยนต์อย่างง่ายดายด้วย Smart phone หรือ Apple watch โดยมีเครือข่ายศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ ทำหน้าทีเป็นสื่อกลางในการรับข้อมูล และให้ความช่วยเหลือตลอดการเดินทาง ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นมีอยู่ใน Toyota C-HR รุ่น 1.8 Mid เช่นกัน

ยกเว้นข้อแรก คือ เรื่องของระบบไฮบริด เพราะสุดหล่อที่อยู่กับเราวันนี้ คือ เวอร์ชั่นเครื่องยนต์เบนซิน พิกัด 1.8 ลิตรรุ่นท็อปสุด ฉะนั้นมาดูกันดีกว่าว่าออฟชันมาตรฐานที่เค้าติดตั้งมาให้จะมีอะไรบ้าง เริ่มจากภายนอกที่มากับ ชุดไฟหน้าฮาโลเจน ที่มากับระบบควบคุมการเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ พร้อมระบบ Follow-Me-Home และไฟ Daytime Running Lights, ไฟเลี้ยวแบบ LED ในขณะที่ด้านข้างนั้นมากับกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว LED สามารถปรับไฟฟ้า และพับเก็บอัตโนมัติ ตามด้วยล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/60 R17 ปิดท้ายด้วยความโดดเด่นในด้านหลัง จากส่วนของสปอยเลอร์ พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED และเสาอากาศแบบครีบฉลาม

ในขณะที่ภายในห้องโดยสารนั้นมากับอารมณ์การตกแต่งด้วย สีทูโทนดำ และน้ำตาล โดยเลือกใช้วัสดุหนัง และวัสดุสังเคราะห์ เช่น ในส่วนของเบาะคู่หน้าทรงสปอร์ต โดยมีออฟชันมาตรฐาน ซึ่งประกอบด้วย

  • ระบบสตาร์ทอัจฉริยะ (Push Start)
  • ระบบเปิดประตูอัจฉริยะ (Smart Entry)
  • ระบบเบรกมือไฟฟ้า (Electric Parking Brake)
  • ระบบ Auto Brake Hold
  • ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ปรับแยกอิสระซ้าย-ขวา
  • ปุ่มปรับดันหลังไฟฟ้าด้านคนขับ (Lumbar Support)
  • ปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และจอแสดงข้อมูลการขับขี่ที่พวงมาลัย

จอแสดงผลข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว ตลอดจนระบบความบันเทิงจาก เครื่องเล่น DVD พร้อมหน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว และช่องเชื่อมต่อ USB/HDMI/Micro SD Card ตลอดจนรองรับระบบเชื่อมต่อ Bluetooth โทรศัพท์ และการเล่นเพลง ก่อนปิดท้ายด้วยตัวช่วยเพิ่มความมันส์ในการขับขี่กับระบบ Sport และ ECO Mode

มาถึงในส่วนของระบบความปลอดภัยนั้น ก็จัดให้ไม่เบาเช่นกันอาทิ

  • ระบบป้องกันล้อล็อค ABS (Anti-lock Brake System)
  • ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake-force Distribution)
  • ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist)
  • ระบบควบคุมการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control)
  • ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (Traction Control)
  • ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill-start Assist Control)

ตลอดจนภายในห้องโดยสารที่มากับเข็มขัดนิรภัยด้านหน้าแบบดึงรั้งกลับ และผ่อนแรงอัตโนมัติ แบบ ELR 3 จุด 2 ที่นั่ง โดยมีด้านหลังเป็นแบบ ELR 3 จุด 3 ที่นั่ง ทำงานร่วมกับถุงลมเสริมความปลอดภัย ระบบ SRS ในตำแหน่งคู่หน้า, ด้านข้าง, ม่านด้านข้าง และหัวเข่าฝั่งคนขับ ตามด้วยความมั่นใจขณะจอดจากกล้องมองภาพขณะถอยหลัง และสัญญาณเตือนกะระยะด้านหน้า ท้าย และที่มุมกันชน

รีวิวทดสอบรถ Sub-Compact SUV-จาก 3 แบรนด์-Toyota C-HR-26.jpg
เครื่องยนต์เบนซินพิกัด 1.8 ลิตร รหัส 2ZR-FBE แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC

สำหรับในส่วนของขุมพลังนั้นมากับเครื่องยนต์เบนซินพิกัด 1.8 ลิตร รหัส 2ZR-FBE แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC โดยมีกำลังสูงสุด 140 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที โดยมีแรงบิดสูงสุด 175 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังสู่ล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด พร้อม Sequential Shift และ Shift Lock รองรับด้วยช่วงล่างด้านหน้าแบบ อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และด้านหลังแบบอิสระแบบปีกนกคู่ (Double Wishbone) พร้อมเหล็กกันโคลง ก่อนจบด้วยระบบเบรกที่จัดดิสก์เบรก 4 ล้อมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

ส่วนในเรื่องของการขับขี่นั้นบอกได้เลยว่าน่าประทับใจมากกับสมรรถนะ ซึ่งต้องยกความดีให้กับโครงสร้างตัวถังใหม่อย่าง TNGA (Toyota Global New Architecture) ที่ช่วยเปลี่ยนบุคลิกอันคุ้นเคยของยนตรกรรมจากค่าย Toyota ให้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเติมความมีชีวิตชีวา และความสปอร์ตลงไป เพื่อถ่ายทอด และสื่อสารอรรถรสในการขับขี่ออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน ด้วยการช่วยเสริมให้เครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร แสดงประสิทธิภาพ และสร้างความรู้สึกสนุกสนานให้เกิดขึ้นในทุกการควบคุม

โดยเฉพาะความสนุกที่รู้สึกได้มากเป็นพิเศษกับช่วงจังหวะทางโค้ง ที่ต้องอาศัยความเฉียบคมของพวงมาลัย และประสิทธิภาพของช่วงล่าง ที่เอื้ออำนวยให้คุณได้เร้าใจกับการขับขี่ได้มากกว่ายนตรกรรมจากค่าย Toyota ที่ผ่าน ๆ มาทั้งหมด รวมไปถึงจังหวะโฉบร่อนไปมาระหว่างเพื่อนร่วมท้องถนนที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “มุด” ด้วยเช่นกัน

ซึ่งด้วยคุณสมบัติของเครื่องยนต์เบนซินที่มี “รอบเครื่องยนต์” ให้เล่น ให้ลาก จึงทำให้ในทุกครั้งที่ “มุด” คุณสามารถลากรอบสุง ๆ มารอจังหวะ “ฉากหลบ” เพื่อสัมผัสความคมของการควบคุม ก่อนจะกดคันเร่งส่งตัวรถแซงออกไป คือ จังหวะที่สามาถทำให้คุณมีรอยยิ้มอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

ชนิดที่ว่าแม้จะเป็นรถอเนกประสงค์ Sub-Compact SUV แต่ก็มีดีกรีความสปอร์ตให้สัมผัสอย่างล้นเหลือ และเอื้ออำนวยให้คุณได้สนุกกับการขับขี่ในทุกเส้นทาง รวมถึงสร้างความอยากให้คุณนำเจ้า C-HR ออกมาขับบ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้ เพราะงั้นจึงเรียกได้ว่า Toyota C-HR คือ ยนตรกรรมที่เปลี่ยนนามธรรมของแนวคิด “LIVE ALIVE…ออกไปใช้ชีวิต” ให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนทีเดียว

โดยหลังจากผ่านไปเต็ม ๆ กับการทดลองขับ 1 เส้นทาง ด้วย 3 ยนตรกรรม Sub-Compact SUV ยอดนิยมทั้ง 3 เป็นที่เรียบร้อย ความรู้สึกทั้งหมดแบบสรุปก็คือ Honda HR-V RS ยังคงเป็นรถที่สามารถเข้าถึง และสนุกกับการขับขี่ได้ง่ายที่สุด และตอบโจทย์ได้มนทุกความต้องการใช้งาน ในขณะที่ Mazda CX-3 นั้นคุณต้องมีใจเอนเอียงไปทาง “ความสปอร์ต” มากหน่อย แต่ก็แลกมาด้วย “สมรรถนะ” ที่คุ้มค่า ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องการสิ่งนี้มากกว่าอย่างอื่น

สุดท้ายกับ Toyota C-HR เรียกได้ว่าเหมือน “สารตั้งต้น” เพราะถ้าให้กล่าวจริง ๆ นี่คือ ยนตรกรรมจากค่าย Toyota ที่มาพร้อมการ “ปฏิวัติ” เพื่อสร้างตัวตนความเป็น Toyota ยุคใหม่ ที่ไม่เหมือนกับอะไรที่ผ่านมา จนเราเชื่อว่าสามารถเปลี่ยน “ทัศนคติ” ของสาวก Toyota ได้ในทันที แม้จะลองขับเพียงครั้งเดียวก็ตาม โดยในความคิดของเรา บอกได้เลยว่ามัน “เจ๋ง” จริง ๆ … แต่ก็อย่างที่บอกล่ะครับ ว่านี่คือสิ่งที่เราสัมผัส และ “เล่า” ให้ฟังเบื้องต้น โดยสิ่งที่จะตัดสินว่ารุ่นไหน “เจ๋ง” และ “ตอบโจทย์” สุด ๆ คนที่ตอบได้ก็คงเป็น “คุณ” เท่านั้น

Specification : Honda HR-V RS

  • Price : 1,119,000 BHT
  • Engine : 1,799 CC / 4 Cylinder / 16 Valve / SOHC / i-VTEC 141 hp @ 6,500 rpm / 172 Nm @ 4,300 rpm
  • Transmission : CVT / Front Wheel Drive
  • Performance : 0 – 100 Km/h @ N/A, Top Speed @ N/A
  • Weight : 1,259 Kg.

Specification : Mazda CX-3

  • Price : 1,083,000 BHT
  • Engine : 1,997 CC / Dual S-VT Direct Injection / 4 Cylinder / 16 Valve 156 hp @ 6,000 rpm / 204 Nm @ 2,800 rpm
  • Transmission : 6A/T / Front Wheel Drive
  • Performance : 0 – 100 Km/h @ N/A, Top Speed @ N/A
  • Weight : 1,335 Kg.

Specification : Toyota C-HR 1.8 Mid

  • Price : 1,039,000 BHT
  • Engine : 1,798 CC / 4 Cylinder / 16 Valve / DOHC 140 hp @ 6,000 rpm / 175 Nm @ 4,000 rpm
  • Transmission : Super CVT-i / Front Wheel Drive
  • Performance : 0 – 100 Km/h @ N/A, Top Speed @ N/A
  • Weight : 1,385 Kg.

Check Also

Kia EV5 Earth Exclusive AWD 2024

รีวิว ลองขับ Kia EV5 Earth Exclusive AWD รถไฟฟ้าจากเกาหลี ที่เติมอรรถประโยชน์ในการใช้งานที่คุ้มค่า

รีวิว ลองขับ Kia EV5 Earth Exclusive AWD มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ ขับเคลื่อนสี่ล้อ ให้กำลังสูงสุด 230 แรงม้า แรงบิด 480 นิวตัน-เมตร …