รีวิว ทดสอบรถ: All-New ISUZU V-CROSS 4×4 ตะลอนน่าน -สะปัน- ปัว เที่ยวไทยสไตล์ NEW NORMAL กับอีซูซุ เพื่อสนับสนุนและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทย
รีวิว ทดสอบรถ: All-New ISUZU V-CROSS 4×4 ตะลอนน่าน -สะปัน- ปัว
ตะลอนน่าน -สะปัน- ปัว แบบเที่ยวไทยสไตล์ NEW NORMAL กับอีซูซุ
หลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้เริ่มดีขึ้น สถานที่หลายๆ แห่งเริ่มกลับมาเปิดให้บริการกันอีกครั้ง และในช่วงนี้ก็เข้าสู่หน้าฝน ซึ่งสถานที่ยอดฮิตอันดับต้นๆ ที่หลายๆ คนชื่นชอบคงไม่พ้น น่านนคร เมืองที่ทำให้ผู้คนที่ไปสัมผัสเหมือนหยุดเวลาเอาไว้ จนหลายคนหลงใหลและหลงรักน่าน สถานที่เหล่านั้นมักมีมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ผู้ชื่นชอบอยากอยู่และสัมผัสใกล้ชิดไปนานๆ ด้วยวิถีชีวิต ความไม่รีบเร่ง และบรรยากาศที่ทุกอย่างหลอมรวมกันได้อย่างลงตัว ทำให้จังหวัดน่านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ภูเขา ถนน วัดวาอาราม ตลอดจนของกินเฉพาะถิ่น ที่มีอยู่มากมาย
ในการเดินทางครั้งนี้เราได้รับมอบรถ All-New ISUZU V-CROSS 4×4 มาเป็นพาหนะคู่ใจในการเดินทางครั้งนี้ แบบเที่ยวไทยสไตล์ NEW NORMAL กับอีซูซุ โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทย หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตในครั้งนี้ โดยให้สื่อมวลชนใช้รถยนต์ อีซูซุ ดีแมคซ์ โฉมใหม่ล่าสุดเป็นพาหนะในการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับทริปนี้ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้กับเส้นทางกรุงเทพฯ – น่าน ระยะทาง 680 กว่ากิโลเมตร กินเวลากว่า 10 ชั่วโมง ด้วยระยะทางเดินทางที่ยาวนานกับสภาพถนนต่างๆ มีทุกอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นทางตรง ทางโค้งที่คดเคี้ยว ขึ้นลงเขาแบบสุดโหด ที่เราจะเจอตลอดการเดินทาง
Posted by Detchapan Namboonsingpon on Monday, 17 August 2020
แต่เราก็อุ่นใจเพราะมีผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยมมาร่วมเดินทางไปกับเราด้วยกับ All-New ISUZU V-CROSS 4×4 สีส้มสดใส พร้อมเครื่องยนต์ 3.0 ดีดีไอ บูลเพาเวอร์ ที่ช่วยให้การเดินทางครั้งนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนานอย่างที่เราต้องการ ช่วงแรกของการเดินทางเราออกเดินทางแต่เช้าเพื่อจะได้ไปถึงจุดหมายคือจังหวัดน่าน ไม่เย็นหรือดึกจนเกินไป เนื่องจากเป็นที่พักคืนแรกที่เรากำหนดไว้ ในช่วงที่ไปถึงจังหวัดน่านเป็นเวลาหัวค่ำเราได้แวะรับประทานอาหารจนเรียบร้อย แต่ก่อนนอนเราไม่ลืมที่จะไปสวัสดีป้านิ่ม หรือร้านบัวลอยป้านิ่ม ที่มีการย้ายจากกลางเมืองน่านไปที่ร้านใหม่ไม่ไกลจากร้านเก่ามากนัก ร้านบัวลอยป้านิ่มมีขนมไทยมากมายหลายอย่างเป็นจุดไฮไลท์ขึ้นชื่อที่ใครมาน่านต้องไม่พลาดมาชิมกันกับเมนูเด็ดอย่าง “บัวลอยราดไอศกรีม”
หลังจากพักผ่อนในคืนแรกที่จังหวัดน่านเรียบร้อย เราก็ตื่นมาไหว้พระยามเช้ากับวัดชื่อดังในจังหวัดน่าน วัดแรกที่เราเข้าไหว้พระสักการะคือวัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นวัดราษฎร์ องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ. 2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกัน
จากวัดพระธาตุเขาน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยจุดชมวิวของวัดนั้นเราสามารถมองเห็นจังหวัดน่านได้ทั้งจังหวัด การที่มาสักการะวัดพระธาตุเขาน้อยก็เหมือนเราได้มาจุดชมวิวที่สวยที่สุดของจังหวัดน่านเช่นกัน
ต่อจากการเข้าสักการะวัดพระธาตุเขาน้อยเราได้เดินทางต่อมาโดยระยะการเดินทางไม่นานมากก็มาถึงวัดภูมินทร์ ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นวัดสำคัญและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน วัดมีลักษณะที่สำคัญคือโบสถ์และวิหารถูกสร้างเป็นอาคารเดียวกัน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2139 โดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เดิมชื่อ วัดพรหมมินทร์ ซึ่งเป็นพระนามของเจ้าเจตบุตรฯ ผู้สร้างวัด
สันนิษฐานว่าในภายหลังได้เรียกชื่อกันเพี้ยนมาเป็นชื่อวัดภูมินทร์ในปัจจุบัน ภาพของวัดเคยปรากฏบนธนบัตรไทยรุ่นที่ 2 ราคา 1 บาท พระอุโบสถจตุรมุข ของวัดแห่งนี้กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกไปทางด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องพระปฤษฏางค์ ชนกันประทับนั่งบนฐานชุกชี ปางมารวิชัย
นักโบราณคดีบางส่วนสันนิษฐานว่าแสดงถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า ในขณะที่บางส่วนสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเลียนแบบลักษณะของพระพรหมสี่พักตร์ ซึ่งปรากฏในพระนามของผู้สร้างวัด คือเจ้าเจตบุตรฯ และกลุ่มสุดท้ายมองว่าสื่อถึงพรหมวิหาร 4
และอีกหนึ่งในจุดไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาที่วัดแห่งนี้ กับภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ “ปู่ม่านย่าม่าน หรือ หนุ่มกระซิบ” อันเป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านไปแล้ว
หลังจากสักการะวัดสำคัญทั้ง 2 วัดในจังหวัดน่านแล้วก็ถึงเวลาออกเดินทางไปอำเภอปัว แต่ก่อนออกเดินทางเราเลือกกินมื้อเช้ากับร้านเตี๋ยวไร้เทียมทาน เป็นร้านที่เป็นไฮไลท์อีกร้านนึงในการเดินทางครั้งนี้ บริเวณร้านเป็นตึกแถวอยู่ในตัวเมืองน่านหาไม่ยาก จุดเด่นเป็นก๋วยเตี๋ยวกระดูกหมูที่ใส่กระดูกหมูต้มจนเนื้อที่ติดกระดูกเปื่อยกินอร่อยเคี้ยวง่าย ร้านนี้ขายดีจนใช้กระดูกหมูเดือนละตันในการขายเลยทีเดียว
หลังกินอาการเช้าเสร็จเราก็เดินทางไปอำเภอปัวโดยใช้เส้นทางน่านนคร เมืองแห่งถนนลอยฟ้าถนนหมายเลข 1256 เส้นทางจากสันติสุขไปบ่อเกลือ หรือเรียกอีกอย่างว่าถนนลอยฟ้าจุดหมายที่ใช้ถนนนี้เพราะเราตั้งใจไปเก็บภาพความสวยงานของถนนที่มีธรรมชาติที่สวยงาม ในช่วงหน้าฝน ณ น่านนคร ไม่มีอะไรดีไปกว่าการมองไปสองข้างทาง ได้เห็นต้นไม้สีเขียวขจี และถือว่าเราโชคดีไม่น้อย
ซึ่งได้รับการต้อนรับจากดอยภูคาที่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา ด้วยสายหมอกที่เข้ามาทักทายเราตลอดการเดินทาง แม้มันจะบดบังวิสัยทัศน์ในการขับขี่บ้างแต่เทียบกับสิ่งที่เราสัมผัสได้จากสายตา และสายลมนั้นช่างคุ้มค่ามากมายซึ่งไม่สามารถหาได้จากที่ไหน ถ้าได้มาสักครั้ง ณ น่านนคร คุณจะหลงรักถนนสายนี้แน่นอน อิ่มเอมกับความสดชื่นของธรรมชาติอากาศที่เย็นสบายที่มาพร้อมแขกของสายลม หรือหมอกที่เพิ่มความสวยงาม
แล้วก็มาถึงจุดพักที่เป็นไฮไลท์ของเส้นทางสายนี้กับร้านกาแฟชิวๆ ที่นั่งแล้วเหมือนหยุดเวลาให้เราอยากอยู่ตรงนี้ยาวนานจนไม่อยากไปไหนกันต่อ กับร้านกาแฟดอยกว่าง ที่เน้นวิวธรรมชาติแบบ 360 องศา มองเห็นสีเขียวจากภูเขาลูกต่อลูกทำให้เราเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเลยทีเดียว หลังนั่งหยุดเวลาสักพักใหญ่เราก็ต้องเดินทางต่อเพื่อไปให้ทันจุดหมายของการเดินทางในครั้งนี้ที่อำเภอปัว ซึ่งเป็นที่พักอีกหลายคืนของเรา
แต่ก่อนที่จะไปถึงอำเภอปัว นั้นยังมีสถานที่และเส้นทางที่รอเราไปเช็คอินถ่ายรูปเก็บความสวยงามรออยู่ เริ่มจากถนนหมายเลข 3 เป็นถนนที่มีโค้ง 2 โค้งหันหน้าทางเดียวกันต่อกันจนเกิดเป็นเลข 3 ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่มีการมาจอดรถถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเยอะมาก เนื่องจากเป็นภาพถนนที่เป็นเลข 3 แล้วข้างทางทั้งสองข้างมีความเขียวขจีและความเพลินตากลมกลืนกันได้อย่างลงตัว
ต่อจากถนนหมายเลข 3 เราเดินทางต่อกับสภาพถนนที่มีโค้งคอห่านมากมายจนนับไม่ถ้วย ณ ตรงจุดนี้ด้วยระบบเครื่องยนต์ดีเซล แบบ 4 สูบ ขนาด 3.0 ลิตร 16 วาล์ว DOHC เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,600 รอบ/นาที สามารถช่วยลดภาระในการขับรถได้อย่างมากด้วยกำลังเครื่องที่มาในรอบต่ำทำให้การคอนโทรลคันเร่งให้เหมาะกับสภาพถนนที่เป็นทางชันสูง สามารถเร่งกำลังส่งรถให้ขึ้นไปทางชันได้อย่างง่ายดาย
หรือทางลาดลงต่ำตัวเครื่องสามารถช่วยพยุงรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ช่วยในการลงจากทางชันสามารถคุมรถได้อย่างมั่นใจ และระบบเกียร์แบบ อัตโนมัติแบบ 6 สปีดทำให้การเปลี่ยนเกียร์ง่ายและเหมาะสมกับทุกสภาพทางที่เราเดินทางได้อย่างดีเยี่ยม ช่วงล่างก็มีส่วนสำคัญกับการเดินทางในภูเขาลักษณะนี้อย่างมากระบบกันสะเทือน หน้า : แบบอิสระปีกนก 2 ชั้น คอยล์สปริง และเหล็กกันโคลงพร้อมโช้กอัพแก๊ส และ ระบบกันสะเทือน หลัง : แหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี พร้อมโช้กอัพแก๊ส (แหนบเหนือเพล) จึงช่วยในการยึดเกาะถนนได้อย่างดีเยี่ยมเหมาะสมกับสภาพทุกการเดินทาง
เมื่อเราลงจากพื้นที่ภูเขาของถนนน่านนครแล้ว เราได้มาแวะอีกสถานที่หนึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญเช่นกันสถานที่นี้เรียกว่า บ่อเกลือ ตั้งอยู่ใน อ. บ่อเกลือ อยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 80 กิโลเมตร มีชื่อเสียงในด้านการทำเกลือบนภูเขาที่ไม่มีที่ใดเหมือน เป็นเกลือสินเธาว์เพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง บ่อเกลือนี้มีมาแต่โบราณและนำไปจำหน่ายยังกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงตุง หลวงพระบาง รวมถึงสิบสองปันนา จีนตอนใต้
เมื่อก่อนนี้จะมีบ่อเกลือหลายบ่อ แต่เดี๋ยวนี้ได้แห้งไปหมด เหลืออยู่เพียงสองบ่อเท่านั้น โดยการทำเกลือจะหยุดทำในช่วงเข้าพรรษาและจะทำอีกครั้งในช่วงออกพรรษา ซึ่งในบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านต่างๆ อีก 8 หมู่บ้าน บ้านบ่อหลวงมีบ่อเกลือสาธารณะอยู่ 2 บ่อ ชาวบ้านจะเรียกว่า บ่อเหนือ และบ่อใต้ บ่อเหนืออยู่ริมแม่น้ำบางส่วน บ่อใต้ห่างออกไปราว 500 เมตรติดเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน และด้วยอำเภอบ่อเกลือ มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม โอบล้อมด้วยขุนเขาเขียวขจี บ่อเกลือจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดน่านที่รอคอยนักเดินทางเข้ามาสัมผัสกลิ่นไอของธรรมชาติและตำนานการทำเกลือบนที่สูง
ออกจากบ่อเกลือเราก็เดินทางไปอีกส่วนหนึ่งของเส้นทางน่านนครไปปัว โดยไฮไลท์ที่สวยงามอีกที่คือ ร้านอุ่นไอมาง ณ สะปัน ร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องธรรมชาติที่สวยงาม และจากรีวิวสถานที่ ณ อุ่นไอมาง เป็นสถานที่ที่มีน้ำใสมากจนเห็นตัวปลาแวกว่าย แต่ ณ วันที่ไปพายุเข้าน้ำป่ามาเลยเห็นแต่น้ำสีโกโก้แทน หลังแวะดื่มกาแฟเสร็จแล้วก็ออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่อำเภอปัว เรามาถึงปัวก่อนค่ำเล็กน้อย และเมื่อเราเดินทางไปถึงที่พัก เราได้พบสถานที่ที่ถือว่าเป็นที่สวยงามอย่างมาก
พักที่เราเลือกในครั้งนี้อยู่บริเวณยอดผา ชื่อ ปัว พาโนราม่า รีสอร์ท อยู่กลางเมืองปัวเป็นสถานที่มีวิวที่สามารถมองทะเลหมอกได้อย่างสวยงาม และเมื่อมองลงมาจากที่พักจะเห็นพื้นที่ข้างล่างเป็นทุ่งนาถัดจากทุ่งนาก็เป็นภูเขาหลายลูกเรียงต่อกัน สถานที่พักตรงนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ใกล้ชิด หรือรู้สึกได้ถึงทำธรรมชาติได้อย่างเต็มที่เหมือนเราถูกโอบล้อมไว้ด้วยธรรมชาตินั่นเอง
หลังจากพักผ่อนเล็กน้อยเราได้ออกเดินทางมายัง วัดร้องแง เป็นวัดโบราณของอำเภอปัว มีวิหารเก่าแก่โดดเด่นและงดงามด้วยวิหารศิลปะไทยลื้อ โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองน่าน วัดร้องแงได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถาน และวัดวาอารามโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
และได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยครั้งที่7 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดีเด่น ลักษณะของวิหารบันเป็นลายพรรณพฤกษาวิหาร มีหลังคาคลุมต่ำ ในวิหารมีประธานปางมารวิชัย ผนังหลังองค์พระมีจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติและมีราชชาดก ฝีมือของช่างพื้นถิ่น บนเสาวิหารมีลวดลายสีทองบนพื้นสีแดง หรือลายคำที่ไม่ซ้ำกำ เช่น ลายกรวยเชิง ลายพรรณพฤกษา เป็นต้น
ออกจากวัดร้องแงเราเดินทางมายังกำแพงโบราณ เวียงวรนคร (เมืองพลัว) จุดเช็คอินอีกแห่งหนึ่งของอำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโบราณสถานอายุ 700 กว่าปี อยู่ใกล้ๆวัดพระธาตุเป็งสกัด กำแพงเมืองเก่าอิฐแดงสวยงาม หากมาเที่ยวอำเภอปัว น่าจะแวะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เพราะเหมือนเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของอำเภอปัว แล้วยังมีประวัติของเมืองพลัว ก่อนที่จะมาเป็นอำเภอปัวในปัจจุบัน
เสร็จแล้วเราได้เดินทางต่อมายังโรงเรียนวัดปรางค์ ที่นี่มีอันซีนที่สุดน่าสนใจคือต้นดิ๊กเดียม เป็นต้นไม้ที่เมื่อเอามือลูบที่ลำต้นเบาๆ ต้นไม้จะมีการสั่นเองตามกิ่งก้านแม้ไม่มีลมพัดก็ตาม แต่เนื่องจากต้นไม้มีอายุเยอะแล้วช่วงนี้เขาจึงสั่นน้อยลงถึงไม่สั่นเลย แต่เราโชคดีที่ลูบและพูดเบาๆ กับเขาว่าเรามาไกลสั่นให้เราเห็นหน่อยเขาก็สั่นให้เราเห็นจริงๆ ในขณะที่เราลูบลำต้นของเขานั่นเอง ออกจากสถานที่ต้นดิ๊กเดียม เราก็มาแวะกินข้าวพื้นเมืองที่ในอำเภอปัวก่อนเข้าที่พัก
วันที่ 3 ของการเดินทาง เราตื่นมาทานอาหารเช้าที่รีสอร์ท กับบรรยากาศวิวทิวทัศน์ที่ทำให้มื้อเช้าของเราไม่เหมือนเดิม ทุ่งนาและท้องฟ้าสลับกับทิวเขาที่ไล่กันเป็นแนวยาว พร้อมพระอาทิตย์ที่ลอยขึ้นมาหลังยอดเขา ช่างเป็นภาพจำที่ตราตรึงใจวันนั้น ทานมื้อเช้าเสร็จ เรามุ่งหน้าต่อไปยังจุดไฮไลท์กาแฟบ้านไทลื้อ – ลำดวนผ้าทอเป็นร้านร้านกาแฟบ้านไทลื้อ เป็นอีกหนึ่งร้านที่มีแนวการแต่งร้านที่มีการออกแบบทางเดิน ติดริมนาข้าวแฝงไปด้วยบรรยากาศแบบไทลื้อดั้งเดิม
ซื้อเครื่องดื่มซักแก้ว ไปนั่งเล่น นอนเล่น รับลมเย็น มองดูวิวนาข้าวและขุนเขาที่อยู่เบื้องหน้า พร้อมถ่ายภาพเช็คอินแบบคูล กับกระท่อมปลายนาในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร โดยร้านตั้งอยู่ใน ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นร้านกาแฟของร้านลำดวนผ้าทอ ร้านขายของที่ระลึกและผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอน้ำไหล ลายโบราณ ชื่อดังแห่งปัว อำเภอปัวถือว่าเป็นอำเภอที่มีชาวไทลื้ออยู่มากที่สุดชาวไทลื้อมีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแต่งกายแบบพื้นบ้านได้แก่ผ้าทอไทลื้อ นับว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของอำเภอนี้
หลังจากนั้นเราเดินทางต่อไปยังน้ำตกศิลาเพชร เป็นน้ำตกธรรมชาติที่มีความสวยงามน้ำใสไหลเย็นสบาย ช่วงไปถึง น้ำค่อนข้างแรงแต่พอเดินได้สบาย จนเราถอดรองเท้าเดินลุยน้ำ เอาเท้าแช่น้ำอยู่พักใหญ่ๆ เพื่อเก็บซับบรรยากาศที่เย็นสบายสดชื่นกับความสวยงามรอบๆ น้ำตกแห่งนี้ ที่มีฝูงผีเสื้อป่าฝูงใหญ่มาดูดแร่ธาตุบนพื้นให้เราได้มีโอกาสเก็บภาพสวยๆมาให้ผู้คนได้มีโอกาสชมกัน
Posted by Detchapan Namboonsingpon on Tuesday, 18 August 2020
หลังจากอิ่มเอิบกับน้ำตกศิลาเพชรเราเดินทางมายังสถานที่สุดท้ายของการเดินทางในครั้งนี้ กับวัดพระธาตุเบ็งสกัด ตั้งอยู่บ้านแก้ม หมู่ที่ 5 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นสถาปัตยกรรมไทยลื้อที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายครั้ง ลักษณะวิหารเป็นทรงสูงแต่หลังคาจะกดต่ำแบบช่างล้านนาเดิม มีลาดบัวที่ฐานตอนล่างของพระวิหาร ด้านข้างของวิหารเจาะหน้าต่างเป็นบานเล็กๆ แคบๆ หน้าวิหารมีลักษณะเป็นมุขโถงโล่งๆ ภายในวิหารประกอบด้วยเสา เรียงสองแถว ตรงสู่แท่นฐานชุกชี ประตูด้านหน้าวิหาร เป็นประตูใหญ่กว้างและสูงประกอบด้วยลวดลายปูนปั้นผสมผสานระหว่างศิลปะเก่ากับใหม่
เจดีย์พระธาตุเป็งสะกัด ในความหมายของพระธาตุตามตำนานหมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากบ่อดินที่ใช้ไม้แหย่ลงไป แล้วไม้ขาดเป็นท่อนๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาดและมีลำแสงเกิดขึ้น เจดีย์เป็นรูปทรงฐานระฆังคว่ำเป็นมุมแปดเหลี่ยมลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ หรือที่เรียกว่าเจดีย์ทรงพะเยา ซึ่งมีมากที่พะเยา เชียงราย และบริเวณแถบภาคเหนือตอนบน ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน เป็นสถาปัตยกรรมของช่างน่าน
วัดตั้งอยู่บนเนินสูงมองเห็นหมู่บ้านอยู่เบื้องล่าง ด้านหลังเป็นเนินเขา นับเป็นการเลือกสรรชัยภูมิที่ส่งให้วัดดูโดดเด่นเป็นสง่า หากมาช่วงฤดูฝนจะมองเห็นนาข้าวเขียวขจีของหมู่บ้านเบื้องล่าง โดยเป็นที่ประดิษฐ์พระบรมสารีริกธาตุ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวปัวเคารพและศรัทธาเป็นอย่างมาก หลังจากเคารพและขอพรเรียบร้อยเราได้เดินทางมาที่พักเพื่อพักคืนสุดท้ายก่อนเดินทางกลับกรุงเทพ
การเลือกเดินทางมาที่ปัวในครั้งนี้ นับเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น แต่ก็อดใจหายไม่น้อยหลังโควิด-19 ชาวบ้านบอกว่านักท่องเที่ยวน้อยลงไปมาก ส่วนมากจะเป็นคนที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงมากกว่า ทำให้ที่ปัวที่ปรกติก็เงียบอยู่แล้วก็ยิ่งเงียบไปอีก แต่จากการที่มาใช้เวลาที่นี่บอกได้คำเดียวว่า “หลงรักปัว” ไม่ว่าจะเป็นบรรยายกาศของทุ่งนา ป่าเขาที่ห้อมล้อมไปด้วยสายหมอก ที่สะกดให้เราอยากอยู่ที่นี่ไปอีกนานๆ รวมไปถึงเส้นทางที่โดดเด่นของถนนที่ตัดผ่านยอดเขาลูกแล้วลูกเล่า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของถนนที่นี่จนถูกขานนามว่าถนนลอยฟ้า
นับเป็นประสบการณ์ที่คุณจะได้เมื่อคุณมีโอกาสสัมผัสด้วยตัวคุณเอง ได้เห็นในมุมมองที่แตกต่าง แต่ถ้าได้เพื่อนร่วมทางที่ไว้ใจได้ ก็ยิ่งทำให้คุณอุ่นใจในการเดินทาง All-New ISUZU V-CROSS 4×4 ที่เป็นยานพาหนะคู่ใจเราในครั้งนี้ก็ตอบโจทย์ได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งในการขับขี่และความประหยัดน้ำมัน ที่เติมเต็มการเดินทางในครั้งนี้ ซึ่งในช่วงนี้เราคงเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศกันไม่ได้ แต่ถ้าคนไทยออกมาเที่ยวไทยกันเอง อย่างน้อยให้มีเงินหมุนเวียนไปยังที่ต่างๆ ก็อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นไม่มากก็น้อย ตามแนวทางเที่ยวไทยสไตล์ NEW NORMAL กับอีซูซุ ที่ทางอีซูซุได้พยายามนำเสนอไปสู่สื่อต่างๆ ในครั้งนี้