รีวิว ทดสอบ Mazda CX-8 2.5 SP 2WD สัมผัสแรกที่กดคันเร่งก็คือ “เซอร์ไพรส์” ด้วยความเร้าใจในระดับที่ใกล้เคียงกับรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล
รีวิว ทดสอบ Mazda CX-8 2.5 SP ยนตรกรรมอเนกประสงค์ Crossover SUV
Mazda CX-8
แม้จะยังไม่มีอะไรอัพเดตเกี่ยวกับ Mazda CX-8 แต่ด้วยกระแสนิยมในเมืองไทยอันล้นหลามของ Mazda หลากหลายรุ่น แค่นั้นก็มากพอที่จะทำให้เรานึกถึงเจ้ายักษ์รุ่นนี้ จนต้องกลับไปใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้งในเวอร์ชั่นเบนซิน เพื่อจะบอกว่าถ้าคุณรัก Mazda … คุณต้องรัก CX-8 ด้วย
เรายังจำได้ดีถึงครั้งแรกที่พบกัน ซึ่งบอกเลยว่า “ตื่นเต้น” คือ อาการแรกที่เกิดขึ้นทันทีที่เห็นเรือนร่างของ Mazda CX-8 ยนตรกรรมอเนกประสงค์ Crossover SUV พี่ใหญ่สุดในสาย ซึ่งมากับเรือนร่างใหญ่สมตัวด้วยความยาว x ความกว้าง x ความสูง คือ 4,900 x 1,840 x 1,730 มม.
พร้อมด้วยความยาวฐานล้อ 2,930 มม. และความกว้างแทรคล้อหน้า 1,595 มม. แทรคล้อหลัง 1,600 มม. แถมให้ความสูงใต้ท้องรถมาถึง 200 มม. กับน้ำหนักตัวในพิกัดเกือบๆ 1.8 ตัน แล้วก็อย่างที่บอกแหละครับว่านั่นคือ “ครั้งแรก”
จนมาถึงครั้งนี้ ความ “ตื่นเต้น” ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกเช่นกัน เพราะเรายังจำได้ถึงความเร้าใจในสมรรถนะของเวอร์ชั่นดีเซลรุ่นท็อปสุด ขณะที่ครั้งนี้เรากลับมาพบเจอกับ Mazda CX-8 อีกครั้ง แต่ต่างออกไปเนื่องจากเป็นการ “ลุ้น” กับรสสัมผัสของรุ่นท็อปเช่นกัน
ในวอร์ชั่นเครื่องยนต์เบนซิน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราขอใช้เวลาสักพัก เพื่อทบทวนบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องงานดีไซน์ ที่ต้อง “ยอมรับ” และ “ชื่นชม” ดีไซเนอร์ผู้สร้างสรรค์ Mazda CX-8 ทุกครั้ง
ซึ่งเมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่จะเห็นว่า บนเรือนร่างขนาดใหญ่นี้ ไม่มีจุดไหนเลย ที่คุณจะรู้สึกถึงความเป็น “ภาระ” จากฐานะของ Crossover SUV คันมหึมา อันจะส่งผลในเรื่องการใช้งาน ซึ่งความชาญลาดที่ว่า ก็คือ งานดีไซน์ ที่นำเอา “เส้นสาย” คมๆ
มาผสมกับแนวคิดในคอนเซ็ปต์ “น้อยแต่มาก” (Less is More) รวมไปถึงงานออกแบบสไตล์ KODO Design เพื่อแปรเปลี่ยนรูปร่างใหญ่โตเป็นความโฉบเฉี่ยว ที่เพียงแค่ “มอง” ก็รับรู้ได้ถึงความปราดเปรียว คล่องตัว ที่พยายามจะสื่อสารออกมา
ถ้าถามว่าอะไรบ้าง ก็คงต้องไล่มาตั้งแต่ด้านหน้า ที่ให้ความสปอร์ตด้วยชุดกระจังหน้าในตำแหน่งต่ำ ประกบด้วยความเฉียบคมของชุดไฟหน้าโปรเจคเตอร์ LED พร้อมการสร้างความสะดุดตาด้วยชุดไฟ DRL แบบ LED Signature ซึ่งวางสไตล์ให้เป็นส่วนเดียวกัน เพื่อสร้างสัญลักษณ์ที่เรียกว่า Signature Wings
ส่วนด้านข้างมากับรูปแบบของรถอเนกประสงค์ SUV ผสมผสานด้วยความ “เรียบง่าย” และ “กลมกลืน” ไม่ว่าจะเป็นโป่งซุ้มล้อ หรือเส้น Shoulder Line ที่แสดงความ “คม” ให้เห็นในบริเวณด้านท้าย
เพื่อนำเสนอความต่อเนื่องสู่ชุดไฟท้ายดีไซน์ 3 มิติ แบบ LED Signature เพื่อประกอบกันเป็นความภูมิฐานสง่างาม ภายใต้ความเรียบง่าย ที่แฝงไปด้วยอารมณ์สปอร์ตตลอดคัน
ภายในห้องโดยสารยังคงให้ความประทับใจทุกครั้งเมื่อเข้ามา ทั้งจากความโปร่งโล่งสบาย ไปจนถึงการเลือกวัสดุที่ใช้ และการให้โทนสี ที่ไม่เน้นความฉูดฉาดเกินงามตามคอนเซ็ปต์ Less is More โดยยังรวมไปถึงการจัดวางปุ่มฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ที่ไม่มาก ไม่น้อย และอยู่ในตำแหน่งที่มีคนเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อเอื้ออำนวยให้ใช้งานได้สะดวก โดยไม่ต้องละสายตาไปจากท้องถนน
นอกจากนี้ด้านหลังก็น่าจะ “ถูกใจ” แม่บ้าน พ่อบ้าน กับพิกัดความจุห้องเก็บสัมภาระ ที่ไม่เพียงใหญ่โต แต่ยังปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการอย่างง่ายดาย ขณะที่ฟังก์ชันมาตรฐานที่ให้มานั้น
ก็ยังคงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าจัดมาให้ในชนิดที่เรียกว่า “ครบเครื่อง” สมฐานะ “ตัวท็อป” ในสายเครื่องยต์เบนซิน โดยข้อดี ก็คือ มันทำให้เราสามารถฟื้นความจำ และเข้าถึงการใช้งานได้รวดเร็ว เช่นเดียวกับอารมณ์การขับขี่
เพียงแต่ครั้งนี้ต่างออกไป อย่างที่บอกว่าครั้งนี้เราโลดแลนด้วยเครื่องยนต์เบนซิน ไร้ระบบอัดอากาศ Skyactiv – G แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 2.5 ลิตร ที่มากับระบบวาล์วแปรผันคู่อัจฉริยะ Dual S-VT และระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Electronic Direct Injection ซึ่งให้กำลังสูงสุด 194 แรงม้า พร้อมแรงบิด 258 นิวตันเมตร ถ่ายทอดผ่านชุดเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด Skyactiv – Drive สู่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
และสัมผัสแรกที่กดคันเร่งก็คือ “เซอร์ไพรส์” ด้วยความเร้าใจในระดับที่ใกล้เคียงกับรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล ตั้งแต่การออกตัวจากจุดหยุดนิ่งที่มีแรงบิดมากพอจะ “ปลิว” ไปตามเท้าสั่ง แถมสร้างความสนุกในการขับขี่ได่อย่างไม่มีเบื่อ
ซึ่งหนึ่งในความดีความชอบที่ช่วยสร้างบุคคลิกดังกล่าว ก็คือ เทคโนโลยีควบคุมการขับขี่รุ่นใหม่ Skyactiv – Vehicle Dynamic ที่ช่วยประสานการทำงานของเครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv – G, ระบบส่งกำลัง Skyactiv – Drive,
ระบบช่วงล่าง และโครงสร้างตัวถัง Skyactiv – Chassis & Skyactiv – Body รวมถึงเทคโนโลยีควบคุมการขับขี่อัจฉริยะ G-Vectoring Control (GVC) ที่ร่วมมือกันลดจุดด้อยความใหญ่โตของเรือนร่าง Mazda CX-8 เพื่อสร้าง “กระชับ ขับง่าย และเชื่องมือ” หรือพูดง่ายๆ ว่าอารมณ์รวมๆ ของการขับขี่มีความคล้ายกับ Mazda CX-5 ไม่น้อย เพียงแต่มาในขนาดตัวถังที่ใหญ่ขึ้น
พร้อมด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้คุณสามารถใช้ขีดความสามารถของ Mazda CX-8 ได้อย่างเต็มศักยภาพ เริ่มจาก Position ท่านั่งในโซนของ Cockpit คนขับ ที่ดูนั่งสบาย แต่ก็ซ่อนงานดีไซน์สปอร์ตเอาไว้ในหลักสรีระศาสตร์
จนทุกครั้งที่ประทับร่างลงบนเบาะ และวาง 2 มือบนพวงมาลัย จะรู้สึกได้ถึงความมั่นใจในการขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ระดับความเร็วสูง
แต่สำหรับส่วนตัวเรา ซึ่งมองว่า Mazda CX-8 ในฐานะยนตรกรรมอเนกประสงค์แบบ Crossover SUV นั้นเหมาะสมที่จะตอบโจทย์การใช้งานขั้นพื้นฐานมากกว่า ฉะนั้นครั้งนี้เราจึงเลือกใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมืองเป็นหลัก
ประหนึ่งพนักงานที่เช้าไปทำงาน และต้องกลับบ้านในตอนเย็น โดยความประทับใจที่สัมผัสได้ก็คือ ความโปร่งโล่งสบายจากห้องโดยสาร ที่ทำให้การเดินทางในชั่วโมง Rush Hour กลายเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ หรืออึดอัด
แถมยังเปลี่ยนเป็นความท้าทายเบาๆ ให้เราได้ใช้ความกระชับ คล่องตัว ท่ามกลางสภาพการจราจรย่ำแย่ จนกลายเป็นสวนสนุกจากการที่ต้องหลบหลีก หรือ สับเปลี่ยนเลน ซึ่งนั่นคือ จุดที่คุณจะเห็นข้อดีของทั้ง Position เบาะนั่ง, ท่านั่ง ไปจนถึงทัศนวิสัยเบื้องหน้า
ตลอดจนอัตราการตอบสนองของเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ที่แสดงให้เห็นว่าขนาดของ Mazda CX-8 ไม่ได้สร้างภาระแม้แต่น้อย หากต้องใช้งานในเมือง
และจากองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้คุณรู้สึกว่าการใช้งานในเมืองไม่ได้เป็นปัญหา ฉะนั้นหลายคนน่าจะทราบดีว่าการขับขี่นอกเมืองจะยิ่งทำให้เราเพลิดเพลินมากขึ้นไปอีกขั้น โดยเฉพาะในเรื่องของช่วงล่างที่กับความเร็วต่ำคุณอาจจะรู้สึก “น้อยใจ” ในความนุ่มนวลไปบ้างหากเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ แต่เชื่อเถอะว่า CX-8 ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น
หากแต่ยังคงเป็นมิตรให้กับสมาชิกในรถเช่นกัน ขณะเดียวกันเมื่อลอยลำระดับเกิน 80 กม./ชม. ไปแล้ว คุณจะรู้สึก “ภูมิใจ” ทั้งในเรื่องของการทรงตัว และการยึดเกาะถนนที่รู้สึกได้มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ เช่นกัน
ซึ่งนั่นหมายถึงความมั่นใจ แม้จะใช้ความเร็วสูง ที่แถมมาด้วยความสนุกในการขับขี่ เอื้ออำนวยให้คุณงัดเอาสไตล์การขับขี่แบบรถสปอร์ตมาใช้ได้เป็นครั้งคราว เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าเจ้านี่เป็นรถอเนกประสงค์ Crossover SUV ขนาดใหญ่ ที่มีทั้งน้ำหนัก และส่วนสูง ยังถือเป็นข้อจำกัดอยู่
แต่ถ้ามองในภาพรวม เจ้านี่ก็มีจิตวิญญาณของยนตรกรรมสปอร์ต ที่ให้อารมณ์การขับขี่สนุกเร้าใจได้มากกว่ายนตรกรรมจากแบรนด์อื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด จนเราคิดว่าคงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า มันมี อารมณ์ และสมรรถนะที่เป็นรองเพียงแค่ยนตรกรรมจากฝั่งยุโรปเท่านั้น ขณะที่ “ค่าตัว” ราว 1.7 ล้านบาท เราถือว่ายังเป็นอะไรรับได้ และน่าสนใจไม่น้อย
แม้ออปชันบางอย่าง จะต้องถูกลดทอนลงไป เพื่อสร้างส่วนต่างราคาจากรุ่นท็อปเครื่องยนต์ดีเซลที่เคาะออกมาแถวๆ 2 ล้าน ซึ่งหากคุณไม่ใช่ผู้บริโภคประเภทที่ชอบ “ดันสุด” เราว่าทั้งหมดที่ได้มาจาก Mazda CX-8 2.5 SP 2WD รุ่นท็อปเครื่องยนต์เบนซิน ก็ถือว่า “ตอบโจทย์” และ “เพียงพอ” สำหรับใช้งานแล้วล่ะครับ
Specification : Mazda CX-8 2.5 SP 2WD (7 Seats)
- Price : 1,699,000 BHT
- Engine : 2,488 CC / 4 Cylinder 16 Valve / Dual S-VT 194 hp @ 6,000 rpm / 258 Nm @ 4,000 rpm
- Transmission : 6A/T / Front Wheel Drive
- Performance : 0 – 100 Km/h (N/A) / Top Speed (N/A)
- Weight : 1,781 Kg.