รีวิว ทดสอบ Ford Ranger Raptor เครื่องยนต์ดีเซลพิกัด 2.0 ลิตร Bi-Turbo พละกำลังสูงสุด 213 แรงม้า เกียร์อัตมัติ 10 สปีด ราคา 1,699,000 บาท
รีวิว ทดสอบ Ford Ranger Raptor เครื่องยนต์ดีเซลพิกัด 2.0 ลิตร 213 แรงม้า
Ford Ranger Raptor
เรียกได้ว่าถ้าถามถึงรถกระบะที่ผู้คนอยากครอบครองมากที่สุดล่ะก็ เราเชื่อว่าชื่อแรกๆ ที่หลายคนเอ่ยขึ้นมาคงไม่พ้น Ranger Raptor … เพราะด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้ขนาดเราเอง เพียงแค่ “พูดถึง” ก็ยังนึก “อยากขับ” ขึ้นมาด้วยเช่นกัน
สำหรับ Ford Ranger Raptor นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น จนมาถึง ณ ปัจจุบัน เราก็ยังคงคิดว่านี่คือ “รถกระบะ” ที่ “เจ๋ง” ที่สุดเหมือนเดิม เพราะถึงแม้จะยังไม่ได้สัมผัสสมรรถนะ แต่คุณก็สามารถรับรู้ได้จากรูปลักษณ์งานดีไซน์ซึ่งเหนือกว่า Ford Ranger รุ่นมาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด จากฝีมือของแผนก Ford Performance ที่หยิบเอาอารมณ์ของความเป็น F-Series มาใส่ลงไปให้เกิดความดุดัน
กับส่วนประกอบที่เริ่มจากขนาดมิติตัวถังความยาว 5,434 มม., ความกว้าง 2,035 มม., ความสูง 1,873 มม. พร้อมความยาวฐานล้อที่ 3,220 มม. กับความกว้างฐานล้อคู่หน้า และคู่หลังที่ 1,710 มม. และการยกความสูงใต้ท้องรถขึ้นเป็น 281 มม. จนได้ขีดความความสามารถในการขับเคลื่อนที่มากขึ้น จากมุมไต่ที่ 32.5 องศา พร้อมด้วยมุมคร่อม และมุมจากที่ 24 องศา
และขนาดตัวถังที่ว่า ถูกครอบทับด้วยงานดีไซน์อันทรงพลังที่ไล่มาจากด้านหน้า ตั้งแต่ชุดกระจังหน้าใหม่ บ่งบอกความเป็นรถกระบะสัญชาติอเมริกันด้วยตัวอักษรแบรนด์ FORD พิมพ์ใหญ่ รับกับชุดกันชนหน้าสไตล์ดุดัน ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของชุดไฟตัดหมอกแบบ LED และช่องดักอากาศ ที่ให้ภาพด้านหน้าดูกว้างขวาง บึกบึนอย่างเห็นได้ชัด
เช่นเดียวกับมุมมองด้านข้างที่มากับแก้มข้างขนาดใหญ่ และขอบโป่งซุ้มล้อสีดำ ทำจากวัสดุคอมโพสิทที่ทนทานต่อการบุบ และรอยขีดข่วน ตามด้วยติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางออฟโรดขนาดใหญ่แบบ All-terrain BF Goodrich ขนาด 285/70 R17 มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ส่วนด้านหลังแม้จะดูไม่ “เด่น” เท่าไหร่ แต่ก็ยังมีความน่าสนใจ ด้วยรายละเอียดของชุดกันชนท้ายดีไซน์ใหม่ ที่เสริมชุดตะขอเกี่ยวมาให้ 2 ชุด สำหรับการลากจูง เช่นเดียวกับอารมณ์ของห้องโดยสารภายใน ที่หลักๆ ยังคงมีความเป็น Ford Ranger ให้ได้สัมผัส
ผสมผสานไปกับการเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียด เช่น โทนสี และวัสดุ ซึ่งผ่านการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานทั้ง On Road และ Off Road พร้อมด้วยการแสดงตัวตนความเป็นรถกระบะรุ่นท็อปสุดในตลาด ด้วยการปักอักษร Raptor ที่พนักพิง ประกอบกับพวงมาลัยพร้อมตำแหน่งมาร์คสีแดงที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ที่มากับด้านหลังเป็นแป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ขนาดใหญ่ผลิตจากแม็กนีเซียมน้ำหนักเบา
สิ่งที่ทำให้ Ranger Raptor ดำรงฐานะ King of Truck ในตลาดเมืองไทย คือ เครื่องยนต์ดีเซลพิกัด 2.0 ลิตร Bi-Turbo ที่พัฒนาระบบอัดอากาศขึ้นใหม่ โดยใช้เทอร์โบแรงดันสูง (HP) และเทอร์โบแรงดันต่ำ (LP) ทำหน้าที่ผลิตกำลังสูงสุดจากโรงงานออกมาให้ใช้ที่ 213 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุดที่ 500 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ที่ยกมาจาก Ford Raptor F-150 และได้รับการอัพเกรดขึ้นใหม่ และเพิ่มคุณสมบัติ “Live in Drive” ให้เราใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift ได้ แม้จะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ D ก็ตาม
อีกหนึ่งไฮไลท์ ก็คือ เรื่องของระบบช่วงล่างที่ติดตั้งโช๊คอัพแบบ Position Sensitive Damping (PSD) จากแบรนด์ Fox Racing ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษ ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ด้วยคุณสมบัติสำหรับระยะการให้ตัวที่มากกว่าปกติทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์ไม่ว่าจะทั้งการใช้งานปกติในชีวิตประจำวัน หรือ การใช้งานสไตล์ขาลุย
ซึ่งมีตัวช่วยเป็นระบบขับเคลื่อนแบบ Part Time 4WD ให้เลือกใช้ได้ทั้งแบบ 2 ล้อ (2H), 4 ล้อความเร็วสูง (4H) และ 4 ล้อความเร็วต่ำ (4L) ที่เสริมด้วยการติดตั้งระบบ Terrain Management System (TMS) มาให้สำหรับเลือกโหมดการขับขี่ที่มีทั้งหมด 6 รูปแบบ คือ โหมดปกติ (Normal) และโหมดสปอร์ต (Sport) สำหรับขับขี่บน On Road และอีก 4 โหมด คือ โหมดหญ้า/กรวดหิน/หิมะ (Grass/Gravel/Snow), โหมดโคลน/ทราย (Mud/Sand), โหมดหิน (Rock) และสุดท้ายโหมดบาฮา (Baja) สำหรับลุยบนความเร็วสูง
และแม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกของเรากับการซิ่ง Ranger Raptor แต่เราก็ยังคิดเสมอว่าจะไม่เอารถกระบะค่าตัว 1.7 ล้านบาท เข้ารกเข้าพงในสไตล์ Off-Road แน่นอน และเราเดาว่าบรรดาเจ้าของ Raptor ทุกคนก็เป็นเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเราเลยลองขับแบบเบาๆ เพื่อซึมซับอรรถรสอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ แต่บอกตรงๆ ว่าทุกครั้งที่ได้ขับ เราก็ยังคงหลงรักมันอยู่
ด้วยความใหญ่โต และดุดันของรูปลักษณ์ที่ช่วยสร้างจุดเด่น จุดสนใจบนท้องถนนได้ดี ประกอบกับความกว้างขวางของห้องโดยสาร และทัศนวิสัยอันดีที่เกิดจากความสูงของตัวรถ เพราะฉะนั้นต่อให้ใช้งานในเมืองคุณก็ยังคงรู้สึกดีได้ด้วย สิ่งที่กล่าวมา รวมไปถึงประเด็นสำคัญอย่างเรื่อง “สมรรถนะ” ที่ไว้วางใจได้ ของเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ แรงบิดสูงที่ช่วยสร้างความคล่องตัว สำหรับการใช้งานในเมืองได้อย่างไม่ยากเย็น
เว้นอย่างเดียวก็คือ การเคลื่อนตัวในตรอกซอกซอยแคบๆ ที่คุณควรใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับรถมากซักหน่อย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ “ชิน” ในเรื่องของ “ขนาด” ซึ่งต้องมีการ “เผื่อวงเลี้ยว” มากกว่ารถกระบะพิกัดมาตรฐานซักนิด
ส่วนสิ่งที่เราไม่เคยสงสัยเลยก็คือ การใช้งาน “นอกเมือง” ที่ขับสบายๆ ด้วยเรี่ยวแรงซึ่งตอบสนองได้ตามน้ำหนักเท้าขวา แถมยังมาพร้อมกับระบบช่วงล่าง และการขยับตำแหน่งของฐานล้อ ที่ช่วยให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคง และการยึดเกาะถนนที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ชนิดที่ปล่อยให้คุณรีดเค้นสมรรถนะจากโหมดการขับขี่ Sport บนถนน On-Road ได้อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย หรือ ใส่เต็มในโหมดบาฮา (Baja) แบบโคตรมันส์ได้อย่างมั่นใจ อย่างที่เค้าร่ำลือกัน เพราะส่วนตัวเราเองครั้งนี้ก็มีโอกาสได้ลองเพียงเบาๆ เท่านั้น เนื่องจากยังไม่เจอสถานที่เหมาะๆ ให้ “จุ่ม” คันเร่งได้แบบ “หายอยาก”
แต่ถึงยังไงซะ แค่ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ได้สัมผัส Ranger Raptor ก็มากพอที่จะทำให้เราหาย “คิดถึง” และมากพอจะยืนยันฐานะของความเป็น Hi-Performance Pickup ซึ่งขึ้นแท่นหัวแถวในตลาดเมืองไทย เพราะการที่ Raptor สามารถยืนอยู่ในจุดนี้ได้ คงไม่ใช่แค่ขีดความสามารถด้าน “สมรรถนะ” เท่านั้น
หากแต่ด้วย “ขนาด” และ “ดีไซน์” รูปลักษณ์ที่หยิบยกมาจาก F-Series อันโด่งดังในต่างๆ ประเทศ คือ ตัวจุดพลุให้ Raptor กลายเป็นที่ฮือฮา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับตลาดรถกระบะเมืองไทย ในการคิดที่จะอัพเกรดโปรดักส์ของตัวเอง
Specification : Ford Ranger Raptor
- Price : 1,699,000 BHT
- Engine : Diesel 2,000 CC / Bi-Turbo Intercooler / 4 Cylinder 16 Valve 213 hp @ 3,750 rpm / 500 Nm @ 1,750 – 2,000 rpm
- Transmission : 10A/T / Part Time Four Wheel Drive
- Performance : 0 – 100 Km/h @ N/A, Top Speed @ N/A
- Weight : N/A Kg.