รีวิว ลองขับ HAVAL H6 เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เทอร์โบ 150 แรงม้า ทำงานร่วมด้วย H6 จะให้พลังรวมที่ 243 แรงม้า อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15 กม./ลิตร
รีวิว ลองขับ HAVAL H6 Ultra รถอเนกประสงค์จาก HAVAL ราคา 1,249,000 บาท
HAVAL H6 ULTRA
Haval H6 ต้อนรับเราด้วยการเผยให้เห็นประสิทธิภาพของมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 130 แรงม้า, 300 นิวตันเมตร ที่ “ฉายเดี่ยว” ด้วยการขับเคลื่อนไฟฟ้าล้วน แม้จะเหยียบคันเร่งลึกลงไปพอสมควรก็ตาม การตอบสนองอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ให้อัตราเร่งเพียงพอสำหรับการเคลื่อนที่ไปตามกระแสจราจรในเมือง
เมื่อเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เทอร์โบ 150 แรงม้า, 230 นิวตันเมตร ถูกปลุกขึ้นมา (อย่างแทบจะไร้ร้อยต่อ) ทำงานร่วมด้วย H6 จะให้พลังรวมที่ 243 แรงม้า กับแรงบิดรวมสูงถึง 530 นิวตันเมตร นั่นหมายถึงอัตราเร่งที่ดีตั้งแต่เริ่มออกตัว ทั้งยังเพียงพอสำหรับการแซงที่ความเร็วสูง
นับว่าเป็นรถที่ทรงพลังคันหนึ่งในคลาสเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องแลกมาก็คืออัตราสิ้นเปลืองซึ่งเราทำได้เฉลี่ยที่ราว 15 กม./ลิตร นับว่าดุเดือดเมื่อเทียบกับรถไฮบริดกลุ่มเดียวกันซึ่งเราทำได้ที่ราว 17 กม./ลิตร หรือมากกว่า
การขับขี่บนมอเตอร์เวย์ให้สัมผัสที่ยอดเยี่ยม ช่วงล่างสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี ทว่ายังไม่ถึงขั้นนุ่มนวลชวนฝัน H6 ทรงตัวมั่นคงเมื่อเข้าโค้งกว้างๆ รักษาระดับการเอียงตัวได้ดี ขณะที่พวงมาลัยเบาและให้สัมผัสแบบสังเคราะห์มากไปในโหมดน้ำหนักเบา เราแนะนำให้ปรับเป็นโหมดสปอร์ตที่มีน้ำหนักตึงมือขึ้นเล็กน้อย
ช่วยให้การตอบสนองดีขึ้นและยังเบาพอสำหรับการใช้ในเมืองด้วย การเก็บเสียงน่าประทับใจเช่นกัน เสียงเครื่องยนต์อาจดังเข้ามาให้ได้ยินพอสมควรขณะเร่งรอบสูงๆ แต่เมื่อใช้ความเร็วคงที่เสียงก็จะเบาลงอย่างมาก
บนถนนเส้นรองที่คดเคี้ยว H6 ดูจะดื้อดึงพอสมควร โดยเฉพาะกับช่วงล่างด้านหน้าที่เริ่มอันเดอร์สเตียร์ระหว่างโค้ง ตั้งแต่ที่ความเร็วไม่สูงนัก เมื่อรวมกับระบบบังคับเลี้ยวที่ไม่สื่อสารเท่าไหร่ ส่งให้มันเป็นรถที่คุณต้องเบามือหน่อยเมื่อเข้าโค้ง อย่างไรก็ตาม การเอียงตัวของรถยังคงไว้ใจได้ และระบบควบคุมการลื่นไถลก็เข้ามาแทรกแซงได้ทันท่วงที ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุลงได้มากทีเดียว
และเมื่อพูดถึงระบบความปลอดภัย สิ่งที่โดดเด่นของ Haval H6 ก็คือระบบครูสคอนโทรล ไม่เพียงรักษาตำแหน่งให้อยู่กลางเลนได้ดีเท่านั้น แต่เมื่อตรวจจับว่ามีมอเตอร์ไซค์กำลังวิ่งอยู่ชิดขอบทาง ระบบยังสามารถบังคับพวงมาลัยหักหลบเล็กน้อยโดยไม่ต้องลดความเร็ว (และไม่ข้ามออกนอกเลน) ได้อีกด้วย
ซึ่งต่างจากระบบของรถรุ่นอื่นๆ ที่จะเบรกให้มีระยะห่างเช่นเดียวกับตอนตรวจเจอรถยนต์คันหน้า นับเป็นระบบที่ทำงานได้ชาญฉลาดทีเดียว ส่วนการรักษาระยะห่างยังคงเหลือพื้นที่หน้ารถมากเกินไป และการเบรกก็ไม่นุ่มนวลนัก ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับระบบของรถรุ่นอื่นๆ ในคลาสเดียวกัน ที่ห่างและเบรกค่อนข้างแรงไม่ต่างกันนัก
แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้ว จุดขายของรถจากแบรนด์ประเทศจีนก็คือราคาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า และ H6 ก็เช่นกัน ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 1.15 ล้านบาท ใน “Pro” เกรดเริ่มต้น หรือเพิ่มอีก 1 แสนบาท เพื่อเกรด “Ultra” เหมือนคันทดสอบของเรา ต่างก็เป็นราคาที่ถูกกว่ารถญี่ปุ่นในคลาสเดียวกันทั้งสิ้น แม้คุณภาพโดยภาพรวมยังสู้ไม่ได้ในบางด้าน แต่เมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป
ส่งให้ Haval H6 เป็นรถที่คุ้มค่าคันหนึ่ง ด้วยรายการอุปกรณ์อำนวยความสะดวกยาวเป็นหางว่าว, ห้องโดยสารกว้างขวาง, พละกำลังไหว้วานได้ บวกด้วยดีไซน์เรียบหรูจากฝีมือ Phil Simmons (อดีตนักออกแบบของ Land Rover ผู้เคยรังสรรค์ผลงานที่งดงามอย่าง Velar และ Evoque เป็นต้น) ทำให้ H6 มีสัดส่วนลงตัวและซ่อนรายละเอียดสวยงามไว้ภายใต้ความมินิมัลได้อย่างน่าประทับใจ
นี่เป็น Haval ที่น่าจะมัดใจคุณได้ไม่ยาก
SPECIFICATIONS : HAVAL H6 ULTRA
Price: ฿1,249,000
Engine: 1499cc 4-cyl petrol turbo, 150ps @ 5500-6000rpm, 230Nm @ 1500-4000rpm with e-motor, 130ps, 300Nm (243ps, 530Nm combined)
Transmission: DHT auto with 2-speed for hybrid system, front-wheel drive
Performance: n/a
Weight: 1690kg
ในเกรด Ultra จะได้กระจังหน้าโครเมียม และระบบกล้องรอบทิศทาง ซึ่งติดตั้งกล้องตัวหน้าไว้ใต้โลโก้ของแบรนด์ ภาพที่แสดงยังไม่คมชัดเท่าที่ควร และมุมกล้องด้านข้างก็แคบทั้งยังดูยากอีกด้วย
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่งดงาม จากการออกแบบของ Phil Simmons ชายผู้เคยพลิกโฉมให้ Land Rover กลายเป็นรถ SUV ที่โฉบเฉี่ยวแตกต่างจากอดีตชนิดหนังคนละม้วน จึงไม่แปลกที่ H6 มีสัดส่วนที่สวยงามลงตัวกว่ารถรุ่นอื่นๆ จากประเทศจีนด้วยกัน
ชุดไฟหน้า Full LED มาพร้อมไฟสูงอัตโนมัติและระบบหน่วงเวลาปิดหลังดับเครื่องยนต์ หากไม่ได้เปิดสปอตไลต์ (เป็น LED เช่นกัน) มันจะทำหน้าที่เป็นไฟส่องอัตโนมัติขณะเลี้ยว
แถบไฟหรี่แบบพาดยาวตลอดความกว้างของรถ มีการจัดเรียงหลอดไฟได้ดีจึงให้แสงสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น ชุดไฟเบรกแยกออกมาไว้ด้านล่างโอบล้อมไฟเลี้ยวที่จัดวางไว้ส่วนกลาง ไฟเบรกดวงที่สามบนสปอยเลอร์หลังคาเป็นแบบเส้นยาว ช่วยเติมเต็มให้ส่วนท้ายของ H6 ดูสวยงามสมบูรณ์แบบ
ระบบไฮบริดของ H6 ทำงานได้น่าประทับใจ การสลับไปมาระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์แทบจะไร้รอยต่อ นอกจากนั้นมันยังพยายามคงการทำงานด้วยไฟฟ้าเอาไว้ จึงสามารถเหยียบคันเร่งลงไปได้ลึกกว่ารถไฮบริดรุ่นอื่นๆ ในคลาสเดียวกัน โดยเครื่องยนต์ไม่เข้ามาร่วมทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม อัตราสิ้นเปลืองยังไม่ถึงกับใช้คำว่า “ประหยัด” ได้เต็มปากนัก
หนึ่งในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Phil Simmons คือดีไซน์ที่แฝงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งบึกบึน… ใน H6 คุณจะเห็นได้จากเส้นตัดที่คมกริบซึ่งประดับประดาอยู่บนตัวถังที่เรียบง่าย ซุ้มล้อขนาดใหญ่เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มภาพลักษณ์กำยำ และทำให้ล้อขนาด 19 นิ้ว ดูเล็กไปเลย (แม้อยู่ใน SUV ขนาดไม่ใหญ่นักเช่นนี้) ช่วงล่างให้ความนุ่มนวลได้ระดับหนึ่ง แต่มีอาการอันเดอร์สเตียร์ค่อนข้างมาก
การรวบรวมเกือบทุกฟังก์ชั่นไว้ในจอแสดงผลส่วนกลาง เปิดพื้นที่ให้นักออกแบบเล่นกับวอลลุ่มพื้นผิวได้มากยิ่งขึ้น มีการนำเส้นสายเฉียบคมแบบเดียวกับตัวถังภายนอกมาใช้ที่แดชบอร์ดและแผงประตู จึงไม่อาจพูดได้เต็มปากว่านี่คือดีไซน์แบบมินิมัลเหมือนภายนอก การตกแต่งด้วยสีโรสโกลด์ดูแปลกใหม่สะดุดตา สีแบบทูโทนมีให้เฉพาะเกรด Ultra ในขณะที่เกรด Pro เป็นสีดำล้วน ตัดด้วยการตกแต่งสีเงิน… ซึ่งดูดีกว่าเยอะ
ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบไฟฟ้า สามารถปรับน้ำหนักได้ 3 ระดับ จากเบาไปจนถึงหนัก ซึ่งก็ยังเบาไปอยู่ดี การตอบสนองฉับไวแต่ไม่เฉียบคม และให้สัมผัสแบบสังเคราะห์เกินไปจนแทบจะไม่สามารถสื่อสารความเป็นไปของล้อหน้าได้ หากคุณไม่ได้ใส่ใจเรื่องความสนุกในการขับขี่ นี่เป็นพวงมาลัยที่ช่วยให้คุณขับขี่ซอกแซกในเมืองได้ทั้งวันโดยไม่ส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อแขนแต่อย่างใด
ในขณะที่ดีไซน์ของรถแสนงดงาม อินเตอร์เฟซของจอแสดงผลสำหรับผู้ขับขี่กลับน่าผิดหวังอย่างยิ่ง ทั้งจืดชืดและหมดเปลืองไปกับพื้นที่โล่งๆ ที่เก็บไว้สำหรับแสดงสัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งจะปรากฏทั้งหมดเมื่อเริ่มสาร์ตรถเท่านั้น… แต่ในความผิดหวังยังมีอะไรเหลือให้ชื่นชมอยู่บ้าง นั่นคือการแสดงกราฟฟิกแบบ Real-time ที่ส่วนกลางของจอ โดยอาศัยภาพที่ตรวจจับได้จากกล้องบนกระจกหน้า (ของระบบช่วยเหลือขณะขับขี่) มาประมวลผล โดยแสดงตำแหน่งและรูปแบบของยานพาหนะแต่ละประเภท ทั้งยังแสดงถึง 2 เลน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากและเพิ่มความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคุณขับอยู่ในเลนขวาและต้องการแซงซ้าย ซึ่งปกติคือการแซงที่อันตรายเพราะอาจไม่เห็นว่ามีรถช้าขับอยู่ในเลนซ้าย แต่ใน H6 คุณสามารถดูจากกราฟฟิกได้ว่ามีรถอยู่ที่เลนซ้ายหรือไม่ ก่อนทำการแซง
จอแสดงผลส่วนกลางระบบสัมผัส เป็นศูนย์รวมสำหรับสั่งงานและปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ เกือบทั้งหมดของรถ ข้อดีคือให้ความรู้สึกล้ำสมัย แต่กลับมีข้อเสียมากมาย ตั้งแต่การใช้เวลาประมวลผล (เมื่อเรียกดูข้อมูลแต่ละฟังก์ชั่น) ค่อนข้างนาน, ไอค่อนย่อยมีขนาดเล็กและตอบสนองช้า และจะต้องกดที่หน้าจอหากต้องการปรับระบบปรับอากาศ เป็นต้น สรุปก็คือ การรวมทุกอย่างไว้ที่หน้าจอ ทำให้ใช้งานยากและเสี่ยงอันตรายเนื่องจากต้องละสายตาจากถนนนานกว่าการกดปุ่ม… น่าแปลกที่ Haval เลือกใช้ปุ่มในการสั่งงานสำหรับฟังก์ชั่นที่แทบไม่ได้ใช้เลย เช่น ระบบไล่ฝ้า, ปิดหน้าจอ หรือแม้แต่ปุ่ม เปิด-ปิด เซนเซอร์รอบทิศทาง ซึ่งเมื่อปิด สักพักระบบก็จะเปิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง… อืมมม…
ระบบอแดปทีฟครูสคอนโทรล พร้อม Stop & Go ทำงานร่วมกับระบบบังคับเลี้ยวไฟฟ้า ช่วยให้ H6 สามารถขับเคลื่อนได้แบบกึ่งอัตโนมัติ ที่ยอดเยี่ยมมากๆ คือระบบเบี่ยงหลบพาหนะ (WDS: Wisdom Dodge System) ที่อาจขับชิดหรือเกือบล้ำเข้ามาในเลนของคุณ โดยรถจะหักพวงมาลัยหลบเล็กน้อยและกลับมาอยู่กึ่งกลางเลนได้เอง จากการทดสอบพบว่า ในถนนเลนสวน ระบบสามารถตรวจจับมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนไหล่ทาง (ชิดกับเส้นขอบทาง) และเบนหลบได้อย่างราบรื่นเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องชะลอความเร็ว
ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมาให้แบบเต็มพิกัด นั่นรวมถึงเบรกมือไฟฟ้าพร้อมระบบ Hold, กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ และช่อง USB ที่อยู่ด้านบน สำหรับติดตั้งกล้องหน้ารถ จึงไม่ต้องเดินสายให้ยุ่งยาก
ใช้เกียร์ระบบ DHT (Dedicated Hybrid Transmission) ซึ่งประกอบด้วยเกียร์ 2 ชุด ชุดหนึ่งสำหรับเครื่องยนต์และอีกชุดสำหรับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยสามารถทำงานได้ทั้งแบบเดี่ยว, เรียงต่อกัน หรือพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงานหรือรูปแบบการขับขี่ เกียร์ DHT มีข้อดีเรื่องขนาดที่กะทัดรัด, มีกลไกไม่ซับซ้อน และสามารถนำไปปรับใช้กับระบบขับเคลื่อนของรถไฮบริดได้หลายรูปแบบ จึงลดต้นทุนด้านการพัฒนาระบบลงได้อย่างมาก การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ทำได้โดยหมุนปุ่มที่คอนโซลกลาง เซ็ตน้ำหนักการหมุนไว้เบามากจนบางครั้งไม่แน่ใจว่าหมุนไปถึงตำแหน่งที่ต้องการหรือยัง แถมไฟแสดงตำแหน่งเกียร์ก็แทบมองไม่เห็นเมื่อขับขี่ตอนกลางวัน
เบาะคู่หน้าแบบปรับไฟฟ้าทั้งสองตัว ยังนั่งไม่สบายนักเมื่อต้องเดินทางไกล แต่พื้นที่รอบๆ ตัว กว้างใหญ่เหลือเฟือในทุกตำแหน่ง มีช่องแอร์และช่องเสียบ USB สำหรับผู้โดยสารตอนหลังติดตั้งมาให้เรียบร้อย ในขณะที่ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถก็กว้างขวางเพียงพอสำหรับกระเป๋าเดินทางไซส์ใหญ่ๆ