มิชลิน เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกด้วยการเผยโฉมยางรถยนต์และยางรถโดยสารรวม 2 รุ่น ซึ่งผลิตจากวัสดุยั่งยืนในปริมาณสูงถึง 45% และ 58% ตามลำดับ โดยยางทั้งสองรุ่นไม่เพียงให้สมรรถนะสูงเช่นเดียวกับยางมิชลินประเภทเดียวกันที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่ยังผ่านการรับรองสำหรับใช้งานบนท้องถนนทั่วไปแล้ว
การเปิดตัวครั้งนี้บ่งชี้ให้เห็นว่ามิชลินได้ยกระดับกระบวนการก่อนการผลิต (Pre-production) และการตลาดให้ก้าวล้ำหน้าก่อนกาล 2-3 ปี ด้วยการนำวัสดุยั่งยืนมาใช้ผลิตยางล้อในปริมาณสูง ซึ่งถือเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับกลุ่มมิชลินในการมุ่งสู่เป้าหมายที่จะผลิต
ยางในระดับโลกโดยใช้วัสดุที่ได้จากการรีไซเคิล, วัสดุหมุนเวียน (Renewable) และวัสดุที่มาจากแหล่งชีวภาพ 100% ภายในปี 2593 ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าที่จะใช้วัสดุยั่งยืนเพิ่มขึ้นในการผลิตยางล้ออีก 40% ภายในปี 2573
ความก้าวหน้าดังกล่าวเป็นผลมาจากการผลิตยางล้อโดยใช้ยางธรรมชาติ, คาร์บอนแบล็คที่ได้จากการรีไซเคิล, ตลอดจนน้ำมันประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน และเรซินจากชีวมวล (Bio-sourced Resins) รวมถึงซิลิกาจากแกลบ และเหล็กกล้าที่ได้จากการรีไซเคิล
การนำวัสดุยั่งยืนมาใช้ในการพัฒนายางล้อโดยยังคงให้สมรรถนะที่ดีถือเป็นแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มมิชลิน อีกทั้งมิชลินยังให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
ภายใต้แผนการดำเนินงานที่กำหนด มิชลินเชื่อมั่นในประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุไฮเทค ตลอดจนความทุ่มเทของแผนกวิจัยและพัฒนา ซึ่งประกอบด้วยทีมวิศวกร, นักวิจัย, นักเคมี และนักพัฒนา ราว 6,000 คน ทั้งนี้ การที่ในปี 2564 มิชลินเป็นเจ้าของสิทธิบัตรวัสดุไฮเทคซึ่งยังมีผลบังคับใช้ (Active Patents) รวมทั้งสิ้น 3,678 ฉบับ ถือเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี
กลุ่มมิชลินตระหนักดีว่าการพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยทักษะใหม่ ๆ จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการกับพันธมิตรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้การพัฒนาเทคโนโลยีล้ำหน้า…โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแปรสภาพและการรีไซเคิล…ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว พันธมิตรเหล่านี้ ได้แก่ ‘ไพโรเวฟ’ (Pyrowave) ในการผลิตสไตรีนจากการรีไซเคิล (r-styrene), ‘คาร์ไบโอส์’ (Carbios)
ในการผลิตพลาสติก PET จากการรีไซเคิล (r-PET), ‘เอ็นไวโร’ (Enviro) ในการพัฒนาคาร์บอนแบล็กจากการรีไซเคิล (rCB) รวมทั้งกับ ‘ไอเอฟพี เอเนอจีส์ นูเวลล์ส’ (IFPEN) และ ‘แอคเซนส์’ (Axens) ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME) ในการผลิตบิวทาไดอีนจากชีวมวล (Bio-Butadiene)
นอกจากนี้ มิชลินยังร่วมดำเนินโครงการ ‘อองแพรงท์’ (Empreinte)* กับหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME) และจัดตั้งโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ‘แบล็คไซเคิล’ (BlackCycle) และ ‘ไวท์ไซเคิล’ (WhiteCycle)
ร่วมกับพันธมิตรสัญชาติยุโรปหลายราย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อแปรสภาพยางล้อที่สิ้นสุดอายุการใช้งานแล้วให้กลายเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงพิเศษสำหรับใช้ในการผลิตยางล้อใหม่
* โครงการ ‘อองแพรงท์’ (Empreinte) ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการลงทุนเพื่ออนาคต โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการลงทุน France 2030 และดำเนินการโดยหน่วยงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศส (ADEME)