รีวิว ลองขับ MG HS PHEV ขุมพลังเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 1.5 ลิตร ให้กำลังรวม 284 แรงม้า อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 7.5 วินาที
รีวิว ลองขับ MG HS PHEV รถ SUV แบบ Plug-in Hybrid รุ่น D ราคา 1.299 ลบ.
MG HS PHEV
“สำหรับ MG HS PHEV ในทางหนึ่ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีโอกาสได้ขับ … แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ขับเช่นกัน เพราะ “ความต่าง” ที่ว่าก็คือ นี่เป็นรุ่นรองที่ไร้ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ADAS แถมยังเป็นปัจจัยที่สร้างความรู้สึก “แตกต่าง” จากรุ่นสูงสุดอย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย”
MG HS PHEV โดย บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย คือ รถอเนกประสงค์ SUV แบบ Plug-in Hybrid ซึ่ง ณ ปัจจุบันทำตลาดในบ้านเราด้วย 2 รุ่นย่อยด้วยกัน เริ่มต้นด้วย รุ่น D ราคา 1,299,000 บาท และสูงสุด คือรุ่นย่อย X ราคา 1,379,000 บาท
โดยหากเป็นปกติรุ่นย่อย X ราคา 1,379,000 บาท ที่ “ของครบ” ที่สุด มักเป็นรุ่นที่ถูกปล่อยออกมาให้ทดลองขับอยู่เสมอๆ แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะที่อยู่กับเราในวันนี้ คือ ตัวรองรุ่น D ที่มีค่าตัว 1,299,000 บาท หรือถูกกว่ารุ่นสูงสุดอยู่ราวๆ 80,000 บาท
ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากความต่างหลักๆ ก็เรื่องของ “ออปชัน” ที่เราจะมาชี้แจงให้ดูกันว่ามีอะไรบ้าง หากใครอยากรู้ว่า “คุ้มค่า” แค่ไหน หากเทียบกับส่วนต่าง “ราคา”
เริ่มจาก ภายนอก ที่รุ่นรองจะไม่มี ฝากระโปรงท้ายระบบไฟฟ้ามาให้ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ขณะที่ภายในห้องโดยสารของรุ่นรอง จะไม่มีแป้นเหยียบแบบสปอร์ต แล้วก็แผงปิดสัมภาระท้าย ตามด้วยระบบความบันเทิงซึ่งเป็นของ OEM จากโรงงาน และมีลำโพงมาให้จำนวน 6 ตำแหน่ง (รุ่นสูงสุดเป็น BOSE กับลำโพง 8.1)
จุดต่างที่แท้จริงเลยก็คือ ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ Advanced Driver Assistance System (ADAS) ที่ไม่ได้ติดตั้งมาให้แบบ Full Team ซึ่งระบบที่ไม่มีมาให้ในรุ่นรอง จะประกอบด้วย ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ IHC (Intelligent High-Beam Control), ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยางTPMS (Tire Pressure Monitoring System),
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ เมื่อความเร็วต่ำ TJA (Traffic Jam Assist), ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW (Lane Departure Warning), ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อรถจะออกนอกเลน LDP (Lane Departure Prevention), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA (Lane Keep Assist), ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนรถยนต์คันหน้าในขณะขับขี่ FCW (Forward Collision Warning),
ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ AEB (Autonomous Emergency Brake) และท้ายสุด คือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control) ซึ่งในรุ่นรองมีมาให้ แต่ไม่ได้อัพเกรดไปถึงขั้นแบบแปรผัน ACC (Adaptive Cruise Control)
ด้านสมรรถนะ ไม่ว่าจะรุ่นรอง หรือรุ่นสูงสุด จะยังคงเหมือนกัน คือ ความเป็นยนตรกรรม PHEV จากเทคโนโลยี Plug-in Hybrid ซึ่งประกอบด้วย เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 162 แรงม้า พร้อมแรงบิด 250 นิวตันเมตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor
ด้วยพลังงานจาก แบตเตอรี่ Lithium-Ion ขนาด 16.6 กิโลวัตต์ ให้กำลังอยู่ที่ 122 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 230 นิวตันเมตร รวมกันแล้วทำให้ MG HS PHEV มีเรี่ยวแรงเบ็ดเสร็จถึง 284 แรงม้า รวมถึงมีแรงบิดสูงสุด 480 นิวตันเมตร
ระบบส่งกำลังก็ยังคงเป็นชุดเกียร์อัตโนมัติ EDU II – 10 Speeds พร้อมฟังก์ชันปรับเปลี่ยนรูปแบบการขับขี่ 5 รูปแบบ คือ Normal, Eco, EV, Sport และ Super Sport ตลอดจนช่วงล่างที่ปรับเซ็ทแบบ Euro Tuning Suspension โดยผลงานความเร้าใจอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 7.5 วินาที
นอกจากนี้ยังสามารถขับขี่ได้ด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวได้ไกลถึง 67 กม. แถมยังมากับการติดตั้งระบบ KERS (Kinetic Energy Recovery System) ที่ปรับระดับการชาร์จพลังงานในระหว่างการขับขี่ (Regenerative) ได้ถึง 3 ระดับ
ซึ่งด้วยคุณสมบัติด้าน “สมรรถนะ” ที่เหมือนกัน เลยทำให้ภาพรวมในการขับนั้นไม่ต่างกันเท่าไหร่ ซึ่งหากขับขี่แบบพื้นฐานทั่วไป และใช้คันเร่งไม่หนักในความเร็วต่ำๆ ซักราวๆ 50-60 กม./ชม. ความประหยัดจะยังเป็นจุดที่น่าประทับใจเช่นเดิม โดยเฉพาะถ้ามีปริมาณแบตเตอรี่มากพอ เพราะว่าการขับเคลื่อนทั้งหมดแทบจะเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เท่านั้น
แต่หากนึกอยากสนุกด้วยการใช้คันเร่งมากหน่อย Sport Mode และ Super Sport Mode ที่ผสานการทำงานของทั้งเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า คือ ตัวเลือกที่ดี แล้วก็ถ้าอยากประหยัดจริงๆ EV Mode นั้นเป็นอะไรที่ชัดเจนสุด เพราะเครื่องยนต์จะถูกปิดสวิตช์การทำงานโดยสิ้นเชิง
แถมสิ่งที่เหนือคาดกว่านั้นก็คือความปราดเปรียวที่เร้าใจจากพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องรอรอบ ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยปริมาณการใช้แบตเตอรี่ตามน้ำหนักเท้าเช่นกัน
ท้ายสุด ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนขับรถเท้าไม่หนักมาก Hybrid Mode ดูจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์เรามากสุด เพราะไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่ปล่อยให้ระบบเค้าทำงานไปตามสถานการณ์ขับขี่ พร้อมกับตั้งระบบ KERS (Kinetic Energy Recovery System) เอาไว้ที่ระดับกลางๆ เพียงเท่านั้นคุณก็สามารถสร้างความ “ประหยัด” ได้อย่างไม่ยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในเมือง ที่ต้องยกคันเร่งบ่อย เบรกบ่อย ก็เท่ากับเป็นการชาร์จไฟกลับเข้าไปสู่แบตเตอรี่มาก และหากรถติดๆ หรือจังหวะไหลช้าๆ เครื่องยนต์ก็แทบจะไม่ต้องออกมาทำงานเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว … นั่นแหละครับ เคล็ดลับของการสร้างความ “ประหยัด” แบบง่ายๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจ และเป็นความต่างให้เราได้สัมผัสตลอดการขับ แม้จะไร้การเปลี่ยนแปลงในเรื่อง “สมรรถนะ” ก็คือ “ความมั่นใจ” เพราะโดยปกติแล้วในการขับรุ่นสูงสุด ระบบต่างๆ ที่เป็นตัวช่วย จะทำหน้าที่ “เตือน” หากเกิดความสุ่มเสี่ยงในหลายๆ กรณี
ซึ่งที่โดนเตือนบ่อยๆ เลยก็คือ ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW (Lane Departure Warning), ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อรถจะออกนอกเลน LDP (Lane Departure Prevention) ตลอดจน ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA (Lane Keep Assist)
ซึ่ง ณ ตอนนี้ที่เรากำลังขับอยู่ คือ รุ่นรอง ที่มีตัวช่วยไม่ได้ครอบคลุม เหมือนรุ่นสูงสุด และเราไม่คุ้นเคยกับสิ่งนั้น เลยทำให้ทุกครั้งที่ใช้งาน “สติสัมปชัญญะ” ต้องมาให้ครบไม่ “ประมาท” ตั้งแต่สตาร์ทรถ จนกระทั่งดับเครื่อง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย จนจบภารกิจทดลองขับ
โดยหลังจากมีเวลาว่างนั่งทบทวน ระหว่างการลองขับรุ่นสูงสุดในครั้งก่อน และรุ่นรองในครั้งนี้อย่างละเอียด เราพบว่าคำถาม คือ อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างออปชัน “ระบบความปลอดภัย” และ “ค่าตัวที่ประหยัดไป 80,000 บาท” ส่วนคำตอบที่เรานั่งถกเถียงกันจนได้ข้อสรุปคร่าวๆ ว่าขึ้นอยู่กับ “ผู้ขับขี่” เป็นหลัก
เพราะถ้าหากคุณใช้รถคนเดียว และเป็นคนมีพฤติกรรมที่ดี มีวินัยในการใช้รถ ใช้ถนนในสังคม งบส่วนต่าง 80,000 บาท คุณสามารถเลือกความประหยัด เพื่อไปคบกับตัวรองรุ่น D ราคา 1,299,000 บาท ได้อย่างแน่นอน ด้วยเพราะระบบความปลอดภัยมาตรฐานยังคงมีให้อย่างครบครัน ขาดก็แค่ตัวช่วย Advanced Driver Assistance System (ADAS) บางอย่าง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
แต่ … ถ้าคุณไม่ได้ใช้รถเพียงคนเดียว ตลอดจนรู้ตัวว่าทั้งคุณ หรือคนที่ใช้ร่วมกัน มีพฤติกรรมค่อนข้างหย่อนวินัยในการใช้รถ ใช้ถนน หรือแม้กระทั่ง คิดว่าส่วนต่าง 80,000 บาท สามารถจ่ายได้ แลกกับตัวช่วย Advanced Driver Assistance System (ADAS) ที่ขาดหายไป เพื่อเลือกไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงขณะใช้งาน เราคิดว่าดันไปจัดตัวสูงสุดรุ่น X ราคา 1,379,000 บาท น่าจะดีกว่า …
คิดง่ายๆ ก็คงไม่ต่างกับการซื้อประกันรถหรอกครับ ยังไงไปไหน ใครขับก็ “อุ่นใจ” เพราะ “มี” แต่ไม่ได้ใช้ … ดีกว่าเวลาจะใช้แล้ว “ไม่มี” … ท้ายสุดนี้ “จะรุ่นรอง หรือรุ่นสูงสุด” คุณผู้ซื้อคงต้องถามตัวเองก่อน ว่ามีพฤติกรรมแบบไหน จากนั้นก็ค่อยๆ พิจารณาเลือกให้เหมาะสมครับ
Specification: MG HS PHEV
- Price: 1,299,000 BHT
- Engine: 1,490 CC / 4 Cylinder / 16 Valve / Turbo TGI 162 hp @ 5,500 rpm / 250 Nm @ 1,700 – 4,300 rpm
- Electric Motor: 122 hp / 230 Nm
- Transmission: EDU II – 10 A/T
- Performance: 0 – 100 Km/h @ 7.5 Sec / Top Speed @ N/A
- Weight: N/A