บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศโครงการ “ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2022” ครั้งที่ 18 ภายใต้แนวคิด “บรรเลงความคิด สร้างท่วงทำนองความฝัน ขับขานจินตนาการเด็กไทย ให้กังวานไกลไปทั่วโลก” โดยนวัตกรจิ๋วที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่
น้องคริส ด.ช.ปัณณทัต พันธุ์ศรีเพชร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ กับผลงาน “แว่นตาเปลี่ยนความชัดเลนส์อัตโนมัติ” โดยได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเยาวชนชาวญี่ปุ่น และทัศนศึกษาเพื่อเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ ณ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2566 ร่วมกับน้อง ๆ นวัตกรจิ๋วที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอีก 5 รางวัล และครูที่ปรึกษา 2 ท่าน ที่ได้รับรางวัล “ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ”
โครงการ “ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2022” เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทั่วประเทศ ได้แสดงไอเดียจากความฝันและจินตนาการในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์แห่งอนาคตที่สนุก สร้างสรรค์ และมีประโยชน์ต่อสังคม โดยในปีนี้มีเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมโครงการฯ มากถึง 23,958 ผลงาน
โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้น ณ ลาน Semi-outdoor ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีเยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 15 คน นำเสนอแบบจำลองสิ่งประดิษฐ์จากจินตนาการและตอบคำถามจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่
- ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (FIBO) และที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษาบุคลากร และเทคโนโลยี โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
- นายยุทธนา โรจนกมลสันต์ ผู้จัดการและหัวหน้านักออกแบบฝ่าย Automobiles Styling Design บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด
- แพทย์หญิงนรีกุล เกตุประภากร (ฟรัง) นักแสดงและยูทูบเบอร์ชื่อดัง
โดยรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่
- ผลงาน “แว่นตาเปลี่ยนความชัดเลนส์อัตโนมัติ” จากน้องคริส ด.ช.ปัณณทัต พันธุ์ศรีเพชร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ
รางวัลรองชนะเลิศ 5 ผลงาน ได้แก่
- ผลงาน “เครื่องต้นไม้ Super Idea” จากน้องหนูดี ด.ญ.ณัฐพร บุญมากาศ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่
- ผลงาน “พลังงานจากการเดิน“ จากน้องมิกกี้ ด.ช.แมทธิว มีทิม ชาร์มา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ
- ผลงาน “กล่องอาชีพ” จากน้องใบเตย ด.ญ.กัณฐิกา แก้วกุล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเยาวเรศวิทยา จ.สุราษฎร์ธานี
- ผลงาน “รวงผึ้งเริงรมย์ ช่วยดับไฟในผับ” จากน้องญาญ่า ด.ญ.สรัญญา สุขสมบูรณ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชุมชนไมตรีอุทิศ จ.นนทบุรี
- ผลงาน “เครื่องช่วยสื่อสาร” จากน้องต้นน้ำ ด.ญ.นันท์นภัส จตุเทน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนทรงวิทยาเทพารักษ์ กรุงเทพฯ
น้องคริส ด.ช.ปัณณทัต พันธุ์ศรีเพชร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เจ้าของรางวัลชนะเลิศในปีนี้ กล่าวว่า “เป็นโครงการฯ ที่สนุกมาก รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมโครงการดี ๆ แบบนี้ และภูมิใจที่สิ่งประดิษฐ์ของเราได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยไอเดียสิ่งประดิษฐ์นี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากปัญหาที่ตนเองและคนรอบตัวโดยเฉพาะคนที่ต้องใส่แว่นตลอดเวลาพบเจอ
หากทุกคนมีแว่นที่สามารถเปลี่ยนความชัดของเลนส์ได้อัตโนมัติ ก็ไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลาไปตัดแว่นใหม่บ่อย ๆ อีกต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากทีเดียว ผมจะตั้งใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ ทั้งในด้านวัฒนธรรม และแนวคิดการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น
จากการไปทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อนำมาพัฒนาตนเองต่อไป และจะพยายามสั่งสมความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง ตนเองจะสามารถประดิษฐ์ “แว่นตาเปลี่ยนความชัดเลนส์อัตโนมัติ” เพื่อนำไปใช้งานได้จริงในอนาคต”
ดร.ชิต เหล่าวัฒนา คณะกรรมการการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ กล่าวว่า “ตลอด 18 ปีที่ผ่านมาของโครงการฯ น้อง ๆ เยาวชนได้นำความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการมาช่วยแก้ปัญหาที่พบเจอในเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มีความคิดริเริ่มอยากให้สิ่งประดิษฐ์จากจินตนาการของพวกเขา ได้มีส่วนช่วยในปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ต่อไปเด็ก ๆ จะนำเอาความรู้ความสามารถบวกกับเทคโนโลยีในอนาคตมาสรรค์สร้างสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเราอย่างทันต่อเหตุการณ์และใกล้ความจริงมากขึ้น”
แพทย์หญิงนรีกุล เกตุประภากร (ฟรัง) นักแสดงและยูทูบเบอร์ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจกับไอเดียของเด็ก ๆ ที่พยายามคิดสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองหรือคนใกล้ตัวพบเจอ ส่วนตัวมองว่าถ้าเรามีวิชาเรียนในโรงเรียน ที่ช่วยสอนให้เด็ก ๆ ได้รู้จักคิด และต่อยอดมาเป็นสิ่งประดิษฐ์แบบโครงการนี้ จะมีประโยชน์ทั้งกับตัวเด็กเองและประเทศชาติ
ต้องขอขอบคุณฮอนด้าที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดและจินตนาการ และอยากให้มีโครงการแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยผลิตเยาวชนคุณภาพออกมาสู่สังคมมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ”
นายยุทธนา โรจนกมลสันต์ ผู้จัดการและหัวหน้านักออกแบบฝ่าย Automobiles Styling Design บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวว่า “ผลงานของน้อง ๆ ทั้ง 15 ผลงานนับว่าเป็นผลงานที่มีไอเดียและการสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งช่วยยืนยันว่าเด็กไทยก็มีความคิดและไอเดียที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่แพ้ต่างชาติ
ขอให้น้อง ๆ ทั้ง 6 คน ที่เป็นตัวแทนเด็กไทยไปทัศนศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อน ๆ ชาวญี่ปุ่น ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้ให้เต็มที่และขอให้สนุกกับการใช้จินตนาการต่อไป”
นอกจากนี้ โครงการฯ ได้มอบรางวัล “ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ” ซึ่งมอบให้กับครูผู้กระตุ้นและผลักดันกระบวนการเรียนรู้ แนวคิด รวมทั้งส่งเสริมจินตนาการให้กับเยาวชนของโครงการฯ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ คุณครูนรชัย พิทักษ์พรชัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ และคุณครูวัฒนสิทธิ์ ชุนโอภาศ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่
ซึ่งจะได้ร่วมเดินทางกับนวัตกรจิ๋วทั้ง 6 คน เพื่อไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์กับเยาวชนชาวญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2566