Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Isuzu Mu-X รุ่นพิเศษ “The Onyx” จุดประกายความรู้สึกใหม่ในตัวคุณ กับจุดหมายปลายทางที่ปากน้ำแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
Test Drive: รีวิว ทดลองขับ Isuzu Mu-X รุ่นพิเศษ “The Onyx” กรุงเทพ – จันทบุรี
หากคุณกำลังค้นหา Wallpaper รูปรถสวยๆเราขอแนะนำ Wallpaper รูปรถสวยๆ Download wallpaper ที่นี้ |
สำหรับคนรักรถแล้ว สิ่งที่จะทำให้อิ่มเอมใจไม่ใช่เพียงแค่การได้ “ขับ” เพื่อดื่มด่ำสมรรถนะของรถ ผมเชื่อว่ามันต้องมีโมเม้นต์ที่คุณอยากจะถ่ายรูปรถคันรักของคุณเก็บไว้เป็นที่ระลึกบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานที่สวย ๆ ระหว่างทางของทริปวันหยุดสุดสัปดาห์
เรามุ่งหน้าสู่จังหวัดจันทบุรีไปกับ Isuzu Mu-X รุ่นพิเศษ “The Onyx” เพื่อทำในสิ่งเดียวกัน นั่นคือค้นหาสถานที่สำหรับถ่ายรูปสวย ๆ และสัมผัสบรรยากาศอันเงียบสงบไปพร้อม ๆ กัน เราเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงสาย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรคับคั่ง ใช้เวลาราว ๆ 4 ชั่วโมง ก็ถึงจุดหมายปลายทาง… ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์
ทำไมต้องที่แหลมสิงห์? อย่างแรกเลยก็คือ ที่นี่ยังคงเงียบสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก ถ้าเป็นไปได้เราแนะนำให้คุณโดดงานตั้งแต่วันศุกร์ เพราะในวันธรรมดา เหมือนกับที่เรามาครั้งนี้ จะมีรถราและผู้คนไม่มากนัก เหมาะอย่างยิ่งกับการถ่ายรูปรถยนต์
ซึ่งต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก สำหรับทั้งจอดรถและเผื่อไว้ให้คุณมีระยะถอยหลังเพียงพอในการเก็บทั้งรถและวิวรอบ ๆ ในภาพเดียวกัน นอกจากนั้น ที่ตำบลนี้ยังมีสถานที่สวย ๆ รวมอยู่ในระแวกเดียวกัน นั่นหมายถึง คุณจะได้ภาพถ่ายมากมายโดยไม่ต้องหมดเปลืองเวลาไปกับการเดินทาง
“ตึกแดง” อาคารชั้นเดียวสีแดงเข้มที่สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2436
เราเริ่มจาก “ตึกแดง” เป็นแห่งแรก อาคารชั้นเดียวสีแดงเข้มที่สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2436 หรือเมื่อ 126 ปีที่แล้ว น่าเสียดายที่ตัวตึกฝั่งติดถนนใหญ่ปิดชั่วคราว เพราะบางส่วนของตัวอาคารเสียหายจากอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักพุ่งเข้าชน
แต่ก็ยังมีพื้นที่อีกด้านของตึกที่คุณสามารถจอดชั่วคราวเพื่อถ่ายรูปได้ ตรงนี้คุณจะได้ภาพที่ประกอบด้วยตัวอาคารสีแดงฝั่งหนึ่ง และต้นมะขามเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับตึกนี้อีกฝั่งหนึ่งของภาพ
เราแนะนำให้คุณเข้าไปเยี่ยมชมภายในอาคาร เพื่อเรียนรู้ประวัติอันเจ็บปวดเบื้องหลังความงดงามของสถาปัตยกรรมสีแดงชาดแห่งนี้ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคาร ที่นี่เคยเป็นที่ตั้ง “ป้อมพิฆาฏปัจจามิตร” ป้อมปืนเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ฝรั่งเศสหาเรื่องรุกรานไทยโดยอ้างว่า
ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคือ อาณาจักรลาว (ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสเข้ายึดลาวไว้เกือบทั้งหมดแล้ว) พวกเขาต้องการดินแดนส่วนนี้ รวมถึง จ. ตราด และเรียกค่าเสียหายอีก 3 ล้านฟรังก์เหรียญทอง หรือราว 1.56 ล้านบาท
ในขณะนั้นไทยปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้อง ฝรั่งเศสจึงยึดเมืองจันทบุรีเอาไว้เป็นตัวประกัน รื้อป้อมปืน และนำบางส่วนของป้อมมาใช้ในการก่อสร้างตึกแดง เพื่อใช้เป็นที่บัญชาการ จนท้ายที่สุดไทยต้องยอมเสียดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้นของไทย รวมทั้งเงินเรียกค่าเสียหายข้างต้น ฝรั่งเศสจึงย้ายออกไปใน พ.ศ. 2447 หรือ 11 ปี ต่อมา หหลังจากที่พวกเขายึดจันทบุรีเอาไว้
คุกขี้ไก่ ใช้สำหรับขังคนไทยที่ต่อต้านฝรั่งเศส
ห่างจากตึกแดงไปไม่กี่ร้อยเมตรคือ คุกขี้ไก่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในเวลาเดียวกับตึกแดง ใช้สำหรับขังคนไทยที่ต่อต้านฝรั่งเศส ภายในแบ่งเป็น 3 ชั้น (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ชั้นบนสุดใช้เลี้ยงไก่ ต่ำลงมาคือชั้นสำหรับขังนักโทษที่มีความผิดร้ายแรง ชั้นล่างสุดสำหรับคนที่มีความผิดน้อยกว่า ซึ่งจะโดนขี้ไก่น้อยกว่านั่นเอง
สะพานแหลมสิงห์ เปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2551
ขยับรถไปอีกไม่ถึง 100 เมตร ด้านหลังของตึกแดง คุณจะพบกับท่าเทียบเรือที่ปลายสุดของถนนหลัก มีทางลาดเล็ก ๆ ที่สามารถขับรถขึ้นไปบนท่าเทียบเรือได้ ในวันที่ชาวประมงยังไม่กลับจากทะเล หรือ ช่วงมรสุมเช่นเดียวกับวันที่เราไปถึง ซึ่งพวกเขาจะไม่ออกเรือ ที่นี่จะเงียบเชียบจนสามารถจอดรถถ่ายรูปได้ คุณจะได้วิวที่มีฉากหลังเป็นเรือประมงและสะพานตากสินมหาราช หรือ ชื่อเรียกง่าย ๆ ว่าสะพานแหลมสิงห์ ซึ่งคุณขับข้ามมายังฝั่งนี้นั่นแหละครับ
สะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรีแห่งนี้ มีความยาวยากที่สุดในจัทบุรี ด้วยระยะทางถึง 1 กม. เชื่อมระหว่าง ต. บางกะไชย และ ต. ปากน้ำแหลมสิงห์ที่คุณจอดรถอยู่ตอนนี้ ไม่เพียงเพื่อส่งเสริมความสะดวกในการมาท่องเที่ยวที่แหลมสิงห์ แต่สะพานแห่งนี้ยังช่วยร่นระยะทางของชาวบ้านในระแวกใกล้เคียงในการขนส่งพืชผลทางการเกษตรอีกด้วย
เปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2551 ใช้งบประมาณถึงเกือบ 180 ล้านบาทในการก่อสร้าง อีกฝั่งหนึ่งของสะพาน บน ต. บางกะไชย ก็มีท่าเทียบเรือซึ่งคุณสามารถขับรถเข้าไปถ่ายรูปเล่นได้เช่นกัน หากขับข้ามสะพานย้อนกลับไปจากแหลมสิงห์ ที่สุดปลายสะพานฝั่งซ้ายมือ ให้วกรถเข้าไปยังถนนปูนเล็ก ๆ เลียบสะพาน
จากนั้นขับตรงไปจนสุดก็จะพบกับท่าเรือ เราไม่มีภาพรถที่จุดนี้ เนื่องจากมีชาวบ้านหลายคนกำลังนั่งตกปลาอยู่ที่นั่น พวกเขาบอกว่า ที่นี่ยังคงอุดมสมบูรณ์ มีปลาชุกชุมมากพอสำหรับทำอาหารในแต่ละวันได้อิ่มท้องทั้งครอบครัว น่าเสียดายอีกอย่างที่ฟ้าฝนไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ในวันนั้น
ความจริงแล้วที่นี่คือจุดชมพระอาทิตย์ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของจันทบุรีทีเดียว ทิวทัศน์ช่างงดงามและสมบูรณ์แบบ คุณสามารถมองเห็นได้ทั้งทะเลอ่าวไทย, แม่น้ำจันทบุรี, สะพาน และชุมชนแหลมสิงห์ได้พร้อม ๆ กันที่นี่ เรารับประกันว่ามันจะเป็นภาพที่ตราตรึงใจคุณไปอีกนาน
พายุฝนก่อตัวให้เห็นที่อีกฝั่ง ต. ปากน้ำแหลมสิงห์ เมฆทะมึนกำลังเคลื่อนเข้ามาหาเรา นั่นหมายถึงมันเป็นเวลาที่เราต้องออกจากที่นี่เสียแล้ว เราย้อนกลับไปยังถนนสายหลักเพื่อเริ่มเดินทางกลับกรุงเทพฯ และไม่ลืมที่จะแวะไปยังหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมแห่งหนึ่งของจันทบุรี ใช่แล้วครับ… ชุมชนริมน้ำจันทบูร
แต่อย่าลืมว่า ภารกิจของเราและ Mu-X “The Onyx” คือการถ่ายรูปรถยนต์ นั่นคือเหตุผลที่เราตั้งใจมาถึงที่ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ในช่วงค่ำ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีรถราสัญจรมากนัก เพราะถนนที่นี่ค่อนข้างแคบ และในช่วงเช้าถึงหัวค่ำจะเต็มไปด้วยผู้คน ซึ่งคงไม่ดีแน่ถ้าคุณไปจอดรถเกะกะในเวลานั้น
เรามาถึงเวลาประมาณ 21.00 น. และเป็นไปตามแผน เหมือนใคร ๆ ก็ปิดบ้านนอนกันหมดแล้ว จะมีเพียงรถจักรยานยนต์ขับผ่านไปมานาน ๆ ครั้ง ถนนที่นี่ยาว 1 กม. เดินรถทางเดียว แต่สามารถขับรถวนกลับมาได้ ดังนั้น ถ้าคุณมีเวลามากพอ เราแนะนำให้ขับสำรวจจนสุดถนนก่อนสักครั้ง เพื่อดูว่ามีช่วงไหนที่พอจะจอดถ่ายภาพได้บ้าง
เราเจอ 2 จุด จึงไม่รีรอที่จะหยิบกล้อง (และขาตั้งกล้อง ซึ่งจำเป็นมากในการถ่ายภาพกลางคืน) ลงไปเก็บภาพไว้สักเล็กน้อย จอดให้ชิดขอบทางไว้หน่อยจะเป็นการดี เผื่อมีรถผ่านมาจะได้ขับสวนกันได้ไม่ยาก
ชุมชนริมน้ำมีอายุกว่า 300 ปี ตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล
บรรยากาศช่างต่างกับช่วงกลางวันอย่างสิ้นเชิง ไม่มีแผงขายของริมทาง, ไม่มีร่มผ้าใบ และไม่มีผู้คนสักเท่าไหร่ คุณจะเห็นความเป็นชุมชนเก่าและจินตนาการถึงวิถีชีวิตเมื่อครั้งที่ยังเป็น “ที่อยู่อาศัย” แบบดั้งเดิมได้ง่ายขึ้นเมื่อมาในเวลากลางคืนเช่นนี้
ชุมชนริมน้ำมีอายุกว่า 300 ปี ตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล ถนนสายแรกของจันทบุรี ที่นี่แบ่งเป็น 3 ชุมชนด้วยกันคือ ชุมชนท่าหลวง, ตลาดกลาง และตลาดล่าง ในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ที่นี่ซึ่งถูกตั้งชื่อใหม่ในปี 2552 ว่า “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” จึงหลากหลายไปด้วยวัฒนธรรม ดังที่คุณเห็นผ่านศิลปกรรม, สถาปัตยกรรม ตลอดจนวัดวาอารามจากหลายศาสนา ที่ตั้งอยู่ในระแวกนี้
หลังจากได้ภาพครบถ้วน ก็ถึงเวลาที่เราต้องมุ่งหน้ากลับเข้าสู่มหานครอีกครั้ง ทว่าความทรงจำอันงดงามของจันทบุรีจะยังคงอยู่กับเราไปตลอดกาล หากมีโอกาส เราหวังว่าคุณจะใช้เวลาในวันหยุดมาเยือนจังหวัดนี้สักครั้ง… เพราะนั่นจะเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าแก่การเดินทางสำหรับคุณอย่างแน่นอน