หลังจากกระแสรถไฮบริดได้กลับมาอีกครั้ง จากเมื่อหลายปีก่อนที่ทางโตโยต้า ได้นำรถไฮบริดอย่างพรีอุสที่เน้นในเรื่องความประหยัด ที่ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งก็เป็นปฐมบทให้มีรุ่นอื่นๆ ออกมาให้คนไทยได้สัมผัสกันอีกหลาย ๆ รุ่น ซึ่งหลังจากนั้นกระแสรถไฮบริดอาจถูกกลบไปด้วย กระแสโลกอย่างรถอีโคคาร์ ซึ่งในปีนี้ทางโตโยต้าก็กลับมาเรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง ด้วย Toyota C-HR ที่ชื่อรุ่นที่ย่อมาจาก Coupe High Rider บ่งบอกแนวคิดในการออกแบบรถรุ่นนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นรถแบบคอมแพค เอสยูวี ไฮบริด ที่มีรูปทรงล้ำสมัย โดยได้รับการพัฒนามาจากพรีอุสโฉมล่าสุดที่ทางโตโยต้าไม่ได้นำเข้ามา รูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวทั้งภายนอกและภายในจากการใช้เพชรเป็นแนวคิดในการออกแบบ มาพร้อมแพลตฟอร์มใหม่ TNGA หรือ Toyota New Global Architecture ใช้ระบบไฮบริดรุ่นล่าสุดเจเนอเรชันที่ 4 มอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งอยู่ในชุดเกียร์ ตัวมอเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นแต่กินไฟน้อยลง ทำงานได้ที่ความเร็วสูงขึ้นจาก 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเจเนอเรชันที่ 3 เป็น 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ใช้ใน พริอุสโฉมล่าสุด และติดตั้งระบบความปลอดภัย Safety Sense แบบเดียวกับคัมรี่ และปรับปรุงชุดเกียร์ E-CVT ให้มีขนาดเล็กลง เพิ่มความมั่นใจด้วยการรับประกัน 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร และฟรีค่าแรงเช็คระยะ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ในรุ่นไฮบริคยังคงรับประกันแบตเตอรี่ไฮบริด 10 ปี และรับประกันระบบไฮบริด 5 ปี ในส่วนของเครื่องยนต์ก็มีการพัฒนาให้มีการระบายความร้อนที่ดีขึ้นเช่นกัน Toyota C-HR ทำตลาดในเมืองไทยด้วยกัน 4 รุ่นย่อย แบ่งเป็นเบนซินและไฮบริดอย่างละ 2 รุ่น ราคารุ่นเริ่มต้น 1.8 Entry 979,000 บาท และรุ่นสูงสุด HV Hi 1,159,000 บาทรูปโฉมภายนอก ทำออกมาได้สะดุดตาดูล้ำสมัย ด้วยเส้นทางที่ลงตัว บวกกับหน้าตาที่ดูแตกต่างจากที่ทางโตโยต้าเคยทำมาพอสมควร มาพร้อมไฟหน้าแบบ LED, ไฟท้ายแบบ LED ติดตั้งระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ, รวมถึงระบบ Smart Entry ทำงานคู่กับปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์, กระจกมองข้างปรับพับอัตโนมัติ โดดเด่นในเรื่องของการเข้าออกของประตูหลังที่สามารถตอบโจทย์การเข้าออกภายนอก-ภายในรถได้ง่ายขึ้น โดยคนสูง 180 ซม. ก็ไม่ใช่ปัญหาในการเข้าออก ห้องโดยสารภายใน คอนโซล จะบิดรับผู้ขับขี่ พร้อมติดตั้งจอ DVD ขนาด 7 นิ้ว พร้อมช่องต่อ USB/HDMI /Micro SD CARD และบลูทูธ พร้อมระบบนำทาง หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันแบบ 3 ก้าน รวมถึงระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense ประกอบด้วย ระบบเตือนการชนด้านหน้า, ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจ, ระบบเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ เป็นต้น ที่นั่งเบาะหลังสามารถนั่งได้แม้จะไม่กว้างขวางนักแต่ก็นั่งได้จริง เพดานอาจจะใกล้ศีรษะผู้นั่งมากไปหน่อย แต่ถ้าความสูงปกติมาตราฐานชายไทยก็ไม่น่ามีปัญหาTOYOTA C-HR ทุกรุ่นใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1,800 ซีซี บล็อกหลักพื้นฐานเดียวกัน โดยรุ่นไฮบริดเป็นแบบ Atkinson Cycle กำลังอัด 13.0:1 เฉพาะเครื่องยนต์มีกำลังสูงสุด 98 แรงม้า ที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม. ที่ 3,600 รอบต่อนาที มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 53 กิโลวัตต์ แรงบิด 16.6 กก.-ม. กำลังขับรวมมอเตอร์ไฟฟ้า 122 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ E-CVT โดยโตโยต้าระบุอัตราบริโภคน้ำมันสูงสุด 24.4 กิโลเมตรต่อลิตร (ข้อมูลจาก Eco Sticker) โดยน้ำมันเต็มถังมีขนาดความจุ 43 ลิตร โดยระบบยังคงทำงานเหมือนระบบไฮบริคของพรีอุสในอดีต แต่เสริมระบบต่างๆ เข้าให้มากขึ้นและดีกว่าในรุ่นก่อน ระบบ Cruise Control ของรุ่น HV Hi มาพร้อม Dynamic Radar Cruise Control ตรวจจับรถคันหน้าด้วยเรดาร์ เพื่อรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย ตั้งได้ 3 ระดับ โดยจะลดความเร็วอัตโนมัติเพื่อรักษาระยะห่างจากรถด้านหน้า และเมื่อไม่มีรถด้านหน้าก็จะเร่งกลับไปยังความเร็วที่ตั้งไว้ เมื่อตั้งความเร็วไว้ และมีรถด้านหน้าช้ากว่าก็จะลดความเร็วลงให้เท่าๆ คันหน้า และรักษาระยะห่างตามที่ตั้งไว้ เมื่อรถด้านหน้าเริ่มลดความเร็วลง ก็จะลดความเร็วลงด้วยเช่นกัน และเมื่อความเร็วลดลงถึงประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบจะตัดการทำงานพร้อมเสียงเตือน ผู้ขับต้องเบรกเอง, ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ AHB หรือ Automatic High Beam ปรับลดไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติ, ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน พร้อมพวงมาลัยหน่วงอัตโนมัติ LDA with Steering Assist หรือ Lane Departure Alert เมื่อออกนอกเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว ระบบจะคิดว่าไม่ตั้งใจเปลี่ยนเลน ระบบจะเตือนที่หน้าจอ MID ด้วยสัญญาณไฟกระพริบและเสียงเตือน และพวงมาลัยจะดึงกลับให้ ซึ่งระบบจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับความเข้มของเส้นถนนด้วยเป็นหลัก ในการขับขี่จริงเราเดินทางจากจังหวัดน่าน ผ่านแพร่ และสิ้นสุดที่ลำปาง โดยใช้ระยะทางทั้งสิ้น 224 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นทั้งทางตรงและเส้นทางคดเคี้ยว รวมไปถึงยังมีการขึ้นเขา-ลงเขา ซึ่งเราจะได้เห็นสมรรถนะของตัวรถอย่างเต็มที่ โดยในการทดสอบจะเป็นรถรุ่นไฮบริดทั้งหมด โดยใน C-HR จะมีโหมดให้ใช้คือ Sport, Normal และ Eco โดยรุ่นนี้จะไม่มีวัดรอบให้เห็นจะเป็นการโชว์ระดับตามสี ฟ้า เขียว ขาวแทน ซึ่งถ้าอยู่ในสีฟ้าหรือเขียวจะเป็นระดับที่ประหยัดกว่า
อัตราเร่งของรถอาจจะไม่รวดเร็วเท่ากับในพรีอุสตัวเก่า ด้วยแรงม้าที่หายไป แต่ถูกชดเชยด้วยน้ำหนักที่เบาขึ้นของวัสดุที่ใช้และแบตที่จุไฟฟ้าได้มากกว่า ทำให้อัตราเร่งโดยรวมเมื่อเปรียบเทียบแล้วแทบไม่ต่างกันเมื่อเทียบกับพรีอุสตัวเจนฯ 3 อัตราเร่งในช่วงความเร็วกลางค่อนข้างตอบสนองได้ดีการไต่ความเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับโหมด EV ซึ่งมีสวิตช์เปิดการทำงานที่คอนโซลเกียร์ จะทำงานถึงความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งอาจจะใช้งานได้ยากไปนิด น่าจะย้ายมาอยู่ในจุดที่ใกล้มือเสียหน่อยจะดีกว่า พวงมาลัยทำออกมาได้ดีทั้งรูปทรงและในส่วนของการบังคับก็เช่นกัน น้ำหนักพวงมาลัยค่อนข้างพอดีไม่ถึงกับเบาแต่ก็ไม่ได้หนักจนเกินไป การบังคับเลี้ยวค่อนข้างแม่นยำในระดับน่าพอใจ ช่วงล่างเป็นอีกจุดทีน่าสนใจ ช่วงล่างที่ขายในไทยมีการเซ็ตอัพใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพถนนในบ้านเรา ในส่วนของวัสดุภายในโช๊คอัพ และค่าความแข็งของสปริงก็มีการปรับใหม่หมด เพราะบอกเลยว่าคนละเรื่องกับตัวที่ขายในต่างประเทศ ปรับเซตความหนึบมาในแนวนุ่มหนึบ ไม่แข็งกระด้าง เข้าโค้งแคบๆ ได้อย่างมั่นใจ ตัวรถไม่โคลงมาก ทางตรงใช้ความเร็วสูงไม่ย้วยหรือวูบวาบ เพียงพอต่อการใช้งาน แม้จะเป็นโค้งโหดๆ แถวจังหวัดน่านหรือแพร่ก็บอกเลยว่าไปได้สบาย ถ้าไม่เข้าด้วยความเร็วโอเวอร์จนเกินไป ซึ่งเป็นอีกจุดที่ต้องชื่นชม ซึ่งเราใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 80-120 กม./ชม. และบางช่วงก็มีแตะถึง 140 กม./ชม. ถือว่าเป็นการใช้งานแบบขับขี่แบบคนทั่วๆไป ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเดินทางเรายังคงได้ยอดอัตราความประหยัดอยู่ที่ 18 กม./ลิตร ซึ่งมีนักข่าวบางท่านทำได้ถึง 25 กม./ลิตรทีเดียว Toyota C-HR นับเป็นรถอีกรุ่นที่น่าสนใจ ด้วยรูปทรงและสมรรถนะที่โดดเด่นน่าจับตาในท้องตลาดตอนนี้ ที่มาพร้อมกับความประหยัดที่ยากจะหาคู่แข่งมาเทียบเทียมได้ ซึ่งจะเป็นจุดขายที่น่าสนใจที่จะทำให้ผู้คนมาส่งใจรถพลังงานไฮบริดกันมากขึ้น ด้วยการรับประกันและบริการ จากชื่อเสียงของโตโยต้าก็เป็นเครื่องการันตีความนิยมได้อย่างแน่นอน เหลือแค่ว่าในรุ่นนี้ จะลบข้อด้อยในเรื่องอะไหล่ที่เจอปัญหาในรุ่นพรีอุสเจนฯ3 ได้หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันต่อไป